ไตปลาแห้ง หนึ่งในอาหารปักษ์ใต้มีจุดเด่นที่รสชาติจัดจ้าน เผ็ดร้อนและมีสมุนไพรเป็นส่วนผสมหลัก คนใต้นิยมทานคู่กับผักสดเพื่อความอร่อยกลมกล่อม ในอดีตหากต้องการทานไตปลาก็จะต้องเดินทางไปภาคใต้หรือหาทานตามร้านอาหารปักษ์ใต้

ทว่าปัจจุบันมีพ่อค้าแม่ค้าหลายรายผลิตไตปลาแห้งครั้งละมากๆ บรรจุกระปุกหรือขวดแก้ว หรือถุงเพื่อส่งขายตามร้านอาหาร ร้านของฝากหรือหน้าร้านต่างๆในหลายจังหวัด หากผลิตเพื่อส่งขายไกลๆ ก็จะต้องเก็บรักษาไว้ได้นานด้วย ทำให้อาจมีผู้ผลิตบางรายเติมสารกันบูดลงไปในไตปลาแห้งเพื่อให้สามารถเก็บรักษาไว้ขายได้นานๆ สารกันบูดที่นิยมใช้ ได้แก่ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ซึ่งสามารถยับยั้งการเติบโตของยีสต์ แบคทีเรียและเชื้อราได้ดี เหมาะใช้กับอาหารประเภทหมักดอง เครื่องแกงสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เนย ขนมอบ แยม เครื่องดื่มอัดแก๊สฯ สารกันบูดทั้ง 2 ชนิดนี้มีความเป็นพิษปานกลางถึงต่ำ ถ้าได้รับปริมาณน้อยร่างกายมีกลไกในการกำจัดความเป็นพิษที่ตับและขับออกทางปัสสาวะได้ จึงไม่สะสมในร่างกาย แต่ถ้าได้รับปริมาณสูงมาก อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เลือดตกในหรือเป็นอัมพาตได้

สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างไตปลาแห้งจำนวน 5 ตัวอย่าง ที่วางขายตามร้านอาหารและร้านค้าออนไลน์ในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ผลปรากฏว่า ไตปลาแห้งทุกตัวอย่างตรวจพบสารกันเสียกรดเบนโซอิก และมีอยู่ 1 ตัวอย่าง ตรวจพบทั้งกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว เลี่ยงทานได้ควรเลี่ยงหรือไม่ควรทานให้บ่อยมากนัก เพื่อความปลอดภัยของร่างกายในระยะยาว.

...

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย