เยลลี่ ขนมที่ได้รับความนิยมทั้งวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ เยลลี่ทำจากน้ำผลไม้หรือน้ำผลไม้เข้มข้น เช่น สับปะรด กระเจี๊ยบ สตรอว์เบอร์รี มะนาว ส้ม มะม่วง นำมาผสมกับน้ำตาล สารทำให้เกิดเจล อาจผสมสี แต่งกลิ่น รส เพื่อดึงดูดความสนใจ
สีผสมอาหารที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้มี 2 ประเภท คือ สีธรรมชาติและสีสังเคราะห์ โดยกำหนดชนิดอาหารและปริมาณที่อนุญาตให้ใช้แตกต่างกันไป แต่สีที่ผู้ผลิตนิยมใช้ คือ สีสังเคราะห์ เพราะมีราคาถูกกว่า ให้สีสดและสม่ำเสมอกว่า สะดวกต่อการใช้กับอาหาร ปกติสีสังเคราะห์ที่เราทานเข้าไปหากได้รับปริมาณไม่มาก ร่างกายจะกำจัดออกโดยการขับถ่าย แต่หากผู้ผลิตใช้ในปริมาณมากจะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหาร กระเพาะอาหาร เพราะสีสังเคราะห์ส่วนใหญ่มีโลหะหนักปะปนอยู่ เมื่อเข้าสู่ร่างกาย มันจะไปเกาะตัวตามผนังกระเพาะ ทำให้เกิดปัญหากับระบบดูดซึมอาหาร ระบบน้ำย่อยในกระเพาะ หากสะสมมากๆเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อตับ ไตได้
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 213 พ.ศ. 2543 เรื่อง แยม เยลลี่และมาร์มาเลดในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท กำหนดให้ใช้สีผสมอาหารในเยลลี่รวมกันได้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม วันนี้ สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างเยลลี่ 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้าในตลาดย่านต่างๆ เขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณสีผสมอาหาร 8 ชนิด ผลปรากฏว่า มีเยลลี่ 4 ตัวอย่าง พบสีผสมอาหาร และชนิดที่พบคือ บริลเลียนต์บลู เอฟซีเอฟ, ซันเซตเยลโลว์ เอฟซีเอฟ และตาร์ตราซีน และเป็นที่น่ายินดีว่าปริมาณที่พบรวมกันยังไม่เกินมาตรฐานกำหนด.
...
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย