โซเดียม แร่ธาตุธรรมชาติที่ร่างกายต้องการมีหน้าที่รักษาระดับความเข้มข้นของน้ำภายในและภายนอกเซลล์ให้สมดุลกัน โดยเฉพาะของเหลวในหลอดเลือดเพื่อให้เลือดนำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ในอวัยวะต่างๆ และยังทำหน้าที่ส่งสัญญาณในระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ปกติเราจะได้รับโซเดียมจากอาหาร ทั้งจาก อาหารตามธรรมชาติ เช่น เนื้อสัตว์ น้ำนม ไข่ อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป เช่น ปลากระป๋อง ไข่เค็ม ปลาร้า ปลาเค็ม เบคอน แฮม ไส้กรอก ขนมขบเคี้ยว ขนมปังและเบเกอรีที่มีผงฟูเป็นส่วนประกอบ และ จากเครื่องปรุงรส เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันหอย ซอสปรุงรส น้ำจิ้มต่างๆ ที่เติมในอาหาร อาหารไม่ผ่านการแปรรูปจะมีโซเดียมน้อยกว่าอาหารแปรรูป ส่วนอาหารจานเดียวที่หาทานได้ง่าย หาซื้อได้สะดวก ไม่ต้องเสียเวลาปรุงเองให้ยุ่งยากก็อาจมีโซเดียม เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง อาหารจานเดียว
ปกติร่างกายต้องการโซเดียมประมาณวันละ 1,500 มิลลิกรัม โดยปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่อันตรายต่อร่างกายคือ ไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือเกลือประมาณ 1 ช้อนชา หากร่างกายได้รับโซเดียมปริมาณสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เป็นที่มาของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรังและเพิ่มความรุนแรงของโรคเบาหวาน
...
วันนี้สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างบะหมี่น้ำหมูแดง จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณโซเดียม ผลปรากฏว่า พบโซเดียมในบะหมี่น้ำหมูแดง 5 ตัวอย่าง ปริมาณอยู่ในช่วง 205.65-409.02 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เห็นผลอย่างนี้แล้วขอแนะว่าควรเลือกซื้อ เลือกทานอาหารปรุงสำเร็จที่ปรุงแต่งน้อย ไม่เติมผงชูรส ไม่เค็ม และไม่ควรเติมเครื่องปรุงปริมาณมากๆ เพื่อความปลอดภัยของไต หลอดเลือดและหัวใจเรา.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย