ประมาณกลางปี พ.ศ.2561 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ออกประกาศ ไม่อนุญาตให้ผลิต หรือนำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เพราะอาจมีกรดไขมันทรานส์ ที่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ครีมเทียมนับเป็นผลิตภัณฑ์อีกชนิดที่เป็นแหล่งของกรดไขมันทรานส์ เพราะครีมเทียมมีวัตถุดิบหลัก คือ กลูโคสไซรัป อิมัลซิไฟเออร์ ไขมันจากพืช ซึ่งไขมันจากพืชส่วนใหญ่จะเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว และเมื่อผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนจะเปลี่ยนรูปเป็นกรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งกระบวนการเติมไฮโดรเจนนี้เองอาจทำให้เกิดกรดไขมันทรานส์ได้
เมื่อเราทานอาหารที่มีกรดไขมันทรานส์เข้าสู่ร่างกาย จะมีผลทำให้ระดับคอเลสเทอรอลชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มขึ้น และทำให้ระดับคอเลสเทอรอลชนิดดี (HDL) ลดลง โดยคอเลสเทอรอลชนิดไม่ดีจะไปสะสมเป็นแผ่นหนานูนบนผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดอุดตัน และอาจทำให้เส้นเลือดแตกได้
ปัจจุบันผู้ผลิตหลายรายจึงปรับเปลี่ยนการผลิตครีมเทียมโดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน แต่จะใช้น้ำมันอื่นทดแทน เช่น น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนแบบสมบูรณ์ หรือปรับกระบวนการผลิตไปใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ไม่ทำให้เกิดกรดไขมันทรานส์ หรือเกิดน้อยที่สุด ด้วยกรดไขมันทรานส์เป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) แนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคกรดไขมันทรานส์ ต้องไม่เกิน 1% ของค่าพลังงานต่อวัน หรือประมาณ 2 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค
...
วันนี้สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างครีมเทียมจำนวน 5 ตัวอย่าง ที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เกตและร้านค้า ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณกรดไขมันทรานส์ ผลคือ พบกรดไขมันทรานส์ ในครีมเทียมทั้ง 5 ตัวอย่าง โดยพบอยู่ในช่วง 0.48-0.97 กรัม ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของครีมเทียม (3 กรัม) และมีอยู่ 4 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณกรดไขมันทรานส์เกินคำแนะนำของ FAO คือ เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค แต่ก็ยังเกินไม่มากนัก เห็นอย่างนี้แล้วขอแนะว่าก่อนซื้อควรอ่านฉลากโภชนาการให้ถี่ถ้วน เลือกซื้อชนิดที่บนฉลากระบุว่า ไขมันทรานส์ 0.0 กรัม เพื่อความปลอดภัยของร่างกายในระยะยาว.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย