มะพร้าว เป็นพืชที่มีความผูกพันกับความเป็นอยู่ของคนไทยมานาน ข้อดีของมะพร้าวคือ สามารถนำส่วนต่างๆของมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าตั้งแต่ ราก ลำต้น ใบ ก้าน กาบมะพร้าว ผลมะพร้าว กะลามะพร้าว และน้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลมะพร้าวนับเป็นเครื่องปรุงที่ให้ความหวาน ที่อยู่คู่ครัวไทยมานาน คนไทยนิยมนำไปทำขนมหวาน เพราะมีรสหวานหอม กลมกล่อม บ้างก็ว่ารสชาติน้ำตาลมะพร้าวออกหวานมัน ต่างจากน้ำตาลทรายจากอ้อยที่มีรสชาติออกหวานแหลม เมื่อปรุงอาหารจะได้ความหวานอร่อยเฉพาะตัว

แหล่งผลิตน้ำตาลมะพร้าวที่มีคนรู้จักมากจะเป็นน้ำตาลมะพร้าวแถวๆแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมตั้งแต่การเก็บ การเคี่ยว จนถึงบรรจุในภาชนะ แต่ปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกมะพร้าวลดลง ประกอบกับผู้คนหันไปใช้น้ำตาลทรายที่ราคาถูกและหาซื้อได้ง่ายกว่าผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าว จึงจำเป็นต้องหาวิธีในการเก็บรักษาไว้ให้ได้นานที่สุดก่อนถึงมือผู้บริโภค

ผู้ผลิตบางรายอาจเติมสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือที่เรียกกันว่าสารฟอกสีลงไปเพื่อทำให้น้ำตาลมะพร้าวสีไม่คล้ำดำ ดูแล้วน่าทาน ทว่าหากเราได้รับสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าสู่ร่างกายปริมาณที่มากเกินไป หรือเกินกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้ จะมีผลทำให้ไปลดประสิทธิภาพของการใช้ไขมันและโปรตีนในร่างกาย ทําลายวิตามินบี 1 ในอาหาร และอาจทําให้มีอาการหายใจติดขัด ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศีรษะ อาเจียน หมดสติ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคหืดหากได้รับซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าสู่ร่างกาย จะเป็นสาเหตุให้อาการของโรครุนแรงขึ้นและหลอดลมตีบได้

...

วันนี้ สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างน้ำตาลมะพร้าว 5 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเพื่อนำมาวิเคราะห์สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้าง ผลปรากฏว่าพบการตกค้างทั้ง 5 ตัวอย่าง

ขอแนะว่า ควรเลือกซื้อน้ำตาลมะพร้าวที่มีสีเหลืองเข้มเป็นธรรมชาติจะปลอดภัยกว่า น้ำตาลมะพร้าวที่มีสีเหลืองอ่อน เพราะอาจเป็นไปได้ว่าใช้สารฟอกสีซัลเฟอร์ไดออกไซด์.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย