วันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก เพิ่งจะผ่านพ้นไป สิ่งที่มาคู่กับความรัก คือ ความหอมหวาน และความสวยงาม ที่คนรักมักมอบให้แก่กัน เช่น ดอกไม้สีสันสดใสสวยงามช่อโต ช่อดอกกุหลาบ รวมถึงขนมหวานพวกเค้ก คุกกี้ ลูกกวาดหลากสี และอมยิ้มสายรุ้ง สีสันสดใสสวยหวานของอมยิ้มนั้น หลายคนไม่คาดคิดว่าอาจมีอันตรายแอบแฝงอยู่ด้วย นั่นคือ

อันตรายจากสีผสมอาหารสังเคราะห์ ที่ผู้ผลิตมักใส่ลงไปเพื่อแต่งแต้มสีสันให้อมยิ้มมีสีสวยงาม ดึงดูด และน่าทาน สีผสมอาหารสังเคราะห์ที่นิยมใช้ ได้แก่ สีน้ำเงิน (บริลเลียนต์ บลู เอฟซีเอฟ), สีชมพู (อีริโทรซิน), สีแดงสด (ปองโซ 4 อาร์), สีแดงเข้ม (คาร์โมอีซีน), สีเหลืองส้ม (ซันเซตเยลโลว์ เอฟซีเอฟ), สีเหลือง (ตาร์ตราซีน), สีเขียว (ฟาสต์กรีน เอฟซีเอฟ) ปกติกฎหมายของไทยกำหนดให้ใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ ผสมลงในอาหารได้ แต่ต้องใช้เฉพาะชนิดที่อนุญาตและปริมาณตามที่กำหนดเท่านั้น เพราะหากใช้ปริมาณมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น

หากได้รับสีผสมอาหารสังเคราะห์ในปริมาณมากๆ เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน สีบางชนิดทำให้เกิดการแพ้ และผื่นคัน และที่น่ากลัวกว่านั้นคือ หากผู้ผลิตใส่สีสังเคราะห์ที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร แต่เป็นสีย้อมผ้าลงไปในอาหารจะทำให้มีผลต่อสมอง และบางชนิดเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง

สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างอมยิ้มสีต่างๆ จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์สีผสมอาหารสังเคราะห์ 5 ชนิด ผลปรากฏว่า พบสีผสมอาหารสังเคราะห์ ในอมยิ้มทั้ง 5 ตัวอย่าง แต่ปริมาณที่พบยังไม่เกินตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอนุญาตให้ใช้ เห็นอย่างนี้แล้ว ควรเลือกซื้ออมยิ้มที่มีสีอ่อนๆ หรือเลือกทานอมยิ้มที่มั่นใจได้ว่าใส่สีผสมอาหารที่ปลอดภัยเท่านั้น เช่น สังเกตว่ามีเครื่องหมาย อย. และมีข้อความว่า เจือสีสังเคราะห์ บนฉลาก เพื่อความปลอดภัย.

...

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย