บ๊วยดอง ผลผลิตที่เกิดจากการแปรรูปผลบ๊วยสดให้มีรสเค็ม เปรี้ยวหรือหวาน และให้สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น คนไทยนิยมนำมาประกอบเป็นอาหารหลากหลายเมนู เช่น ปลานึ่งบ๊วย ขาหมูต้มบ๊วย หรือจะเป็นเครื่องดื่มละมุนลิ้น เช่น น้ำบ๊วย น้ำบ๊วยโซดา ก่อนจะมาเป็นบ๊วยดองที่วางขายตามท้องตลาดนั้น ต้องผ่านกระบวนการหมักดองจนได้ที่ คือ ได้รสชาติ กลิ่นและลักษณะภายนอกตามที่ต้องการ
ทว่า มีผู้ผลิตอาหารบางรายนำสารกันเสียหรือสารกันรา ที่รู้จักในชื่อกรดซาลิซิลิคใส่ในอาหารหมักดอง และอาหารแห้งเพื่อป้องกันเชื้อราขึ้น สารชนิดนี้สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อจุลินทรีย์ทำให้ผักผลไม้ดองมีสภาพสวย น้ำดองไม่มีฝ้าขาวๆ หรือไม่มีจุดสีต่างๆ แต่สารกันราชนิดนี้เป็นสารอันตราย เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เซลล์ในร่างกายตาย หากสะสมในร่างกายเป็นเวลานานจะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหาร และความดันต่ำ
แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากๆ จะทำให้มีอาการไข้ หายใจลึกและถี่ผิดปกติ ปากคอไหม้ หูอื้อและถ้ารุนแรงมากจะมีอาการตัวเขียวเนื่องจากขาดออกซิเจน หมดสติและอาจเสียชีวิตได้ ในบางรายที่แพ้อาจทำให้เป็นผื่นคัน อาเจียน หูอื้อ หรือมีไข้ หรือบางรายที่แพ้แม้จะทานเข้าไปไม่มากก็อาจทำให้เป็นผื่นคันขึ้นตามตัวได้ กระทรวงสาธารณสุขไทยจึงกำหนดให้กรดซาลิซิลิค เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งหมายถึงว่าห้ามใส่ลงไปในอาหารทุกชนิดด้วย
สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างบ๊วยดอง จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์กรดซาลิซิลิค ปนเปื้อน ผลวิเคราะห์ปรากฏว่าไม่พบกรดซาลิซิลิคปนเปื้อนในบ๊วยดองทุกตัวอย่าง วันนี้ ท่านที่ชื่นชอบบ๊วยดองและเมนูจากบ๊วยดองสบายใจกันได้ แต่ก็ควรเลือกซื้อจากแหล่งผลิต หรือร้านค้าที่มั่นใจ เชื่อถือได้ และมีเลข อย. จะยิ่งสบายใจและปลอดภัยกว่า.
...