ถ้าจะกล่าวถึงความเป็นไทย เรื่องของวัฒนธรรม ประเพณี นับเป็นสิ่งที่ยากจะหาที่ใดในโลกเหมือน เรื่องอาหารการกินก็ขึ้นชื่อ จนได้รับยกย่องจากเว็บไซต์ CNNgo จัดอันดับให้อาหารไทยเป็นอาหารยอดนิยมสำหรับ ชาวต่างชาติหลายเมนู

ขนมไทยเป็นอีกสิ่งที่น่าอวดชาวโลก เพราะมีทั้งความประณีต วิจิตร มีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ และขึ้นชื่อเรื่องความละเอียดอ่อนในทุกขั้นตอนการทำ ตั้งแต่การเลือกสรรวัตถุดิบ กระบวนการผลิตและวิธีการทำให้รสชาติคงตัวคงที่

สมัยก่อนหรือแม้แต่สมัยนี้ ผู้ที่ทำขนมไทยแบบโบราณขาย ส่วนใหญ่มักใช้มือคนหยิบจับวัตถุดิบ ผสมส่วนผสม นวด ปั้น แกะ และใช้มือห่อขนมด้วยใบตอง หรือบรรจุลงกระทง ถุง กล่องพลาสติก ซึ่งมีสิ่งที่ต้องระวังคือ การปนเปื้อนเชื้อก่อโรค เช่น เชื้อ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส

เชื้อชนิดนี้มักอยู่ตามผิวหนัง ทางเดินหายใจ ลําคอ เส้นผมของคน ฉะนั้นหากคนทำขนม แม่ค้า หรือคนขายไม่สวมเน็ตคลุมผม ไม่รักษาสุขลักษณะส่วนบุคคลให้ดีเพียงพอ และไม่ล้างมือให้สะอาด แล้วไปทำขนม, หยิบจับขนมใส่ภาชนะ หรือหยิบมะพร้าวโรยหน้าขนม หรือไอจามขณะทำขนม ก็อาจทำให้มีโอกาสที่เชื้อจะปนเปื้อนลงสู่ขนมได้

...

เชื้อชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายกับทางเดินอาหารมากนัก แต่หากเชื้อสร้างสารพิษที่เรียกว่า เอนเทอโรทอกซิน ขณะปนเปื้อนอยู่ในอาหาร และเราได้รับสารพิษชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายจากการทานอาหาร จะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว ปวดท้อง อุจจาระร่วงเฉียบพลัน เป็นตะคริวในช่องท้อง อ่อนเพลีย อาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหาร และความต้านทานของแต่ละคน

วันนี้ สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างขนมไทยชนิด ที่มีมะพร้าวโรยหน้าจำนวน 5 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ปนเปื้อน ผลปรากฏว่า พบการปนเปื้อน 1 ตัวอย่าง แต่ปริมาณยังไม่เกินมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหาร ฉบับที่ 3 ที่กำหนดให้พบเชื้อ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ในขนมไทยได้ไม่เกิน 100 ซีเอฟยู/กรัม เห็นอย่างนี้แล้วอย่าชะล่าใจ ควรเลือกซื้อขนมไทยจากร้านที่สะอาด และมั่นใจว่าคนขายมีการรักษาสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ดี เพื่อความปลอดภัย ของร่างกายเรา.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย