คนสมัยโบราณมีวิธีการรักษาอาการเจ็บป่วย ครั่นเนื้อครั่นตัว รู้สึกธาตุผิดปกติ ด้วยการนำสมุนไพรมาใช้เป็นยา หรือปรุงอาหารด้วยพืชพรรณที่มีสรรพคุณเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อป้องกันโรคภัย หนึ่งในพืชผักสารพัดประโยชน์ที่ปลูกกันทุกครัวเรือน คือ “ตะไคร้” นอกจากนำมาทำเมนูต้มยำแล้ว ทราบหรือไม่ว่าประโยชน์ของตะไคร้มีมากกว่าที่คิด
ตะไคร้ ภาษาอังกฤษมีชื่อเรียกว่า Lemon Grass หรือ Lapine (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon citratus Stapf.) เป็นญาติกับพืชตระกูลหญ้า การเติบโตขึ้นเป็นกอ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยจะมีชื่อเรียกต่างกัน ได้แก่
- ภาคเหนือ เรียกว่า จะไคร้ (แม่ฮ่องสอน เรียกว่า คาหอม, เงี้ยว, ห่อวอตะไป่)
- ภาคใต้ เรียกว่า ไคร
ประโยชน์ของตะไคร้
ประโยชน์ของตะไคร้ ใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร เพราะมีเกลือแร่จำเป็นหลายชนิด ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และวิตามิน นำตะไคร้มาสกัดกลั่นกลิ่นใช้เป็นน้ำมันหอมระเหย รวมถึงตะไคร้หอมมีคุณสมบัติกันยุงได้ด้วย สรรพคุณทางยาของตะไคร้ ช่วยแก้อาการต่างๆ ดังนี้
...
สรรพคุณของตะไคร้
รากตะไคร้
สรรพคุณของรากตะไคร้ ช่วยบำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้นิ่ว แก้ปวดกระเพาะ รวมถึงรักษากลากเกลื้อนได้อีกด้วย
ลำต้นตะไคร้
สรรพคุณของลำต้นตะไคร้นำมาใช้แก้ปวด จากการปวดข้อและฟกช้ำ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ รวมถึงช่วยให้เจริญอาหาร แก้ท้องเสีย แก้ท้องอืด แก้จุกเสียด แน่นท้อง ขับลมในลำไส้ วิธีใช้คือรับประทานสด หรือผึ่งแห้งแล้วนำมาใช้ต้มดื่ม
ใบตะไคร้
สรรพคุณของใบตะไคร้ช่วยลดความดันโลหิตสูง นำมาใช้สกัดทำน้ำมันหอมระเหย
แม้ว่าตะไคร้จะเป็นพืชที่ใช้ประกอบอาหาร แต่ก็มีสรรพคุณทางสมุนไพร หากคุณต้องการใช้ตะไคร้แห้งเพื่อมาต้มน้ำดื่มเป็นยา เว็บไซต์โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้อธิบายวิธีและปริมาณการใช้ประโยชน์ตะไคร้ ไว้ดังนี้
ใช้ตะไคร้แก้อาการท้องอืด จุกเสียด
อาการปวดท้องที่มาจากการแน่นท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อ ใช้ตะไคร้แก่ทุบแหลก 1 กำมือ (ขนาดประมาณ 40 - 60 กรัม) ต้มน้ำดื่ม หรือนำมาประกอบอาหาร ใช้ตะไคร้ 5 ต้น สับเป็นท่อน ต้มกับเกลือ โดยต้มให้เหลือ 1 ใน 3 จากน้ำที่ต้ม หลังจากนั้นดื่ม 1 แก้ว ติดต่อกัน 3 วัน จึงจะคลายปวดท้อง
ใช้ตะไคร้แก้อาการขัดเบา ปัสสาวะไม่คล่อง (ไม่มีอาการบวม)
ใช้ต้นแก่ 1 กำมือ (ต้นสดใช้ 40-60 กรัม หรือต้นแห้งหนัก 20 - 30 กรัม) ต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) ดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง ใช้เหง้าตะไคร้แก่ ฝานเป็นแว่นบางๆ คั่วจนเหลือง ชงแทนชา ดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 ครั้ง
โทษของตะไคร้
แม้ว่าตะไคร้เป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยามากมาย แต่ก็มีข้อควรระวัง ดังนี้
- หญิงตั้งครรภ์ : หญิงตั้งครรภ์อ่อนๆ หรือใกล้คลอด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานตะไคร้มากเกินไป เพราะตะไคร้มีฤทธิ์ให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว
- ผู้ป่วยโรคไต : ควรระมัดระวังการดื่มน้ำตะไคร้ หรือใช้ตะไคร้ในทางสมุนไพร เนื่องจากตะไคร้มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
- ผู้ป่วยภูมิแพ้ : หลีกเลี่ยงการสูดดม หรือการใช้น้ำมันตะไคร้หอมไล่ยุง เพราะอาจระคายเคืองต่อดวงตาและผิวหนังที่อ่อนโยน
หากคุณพบว่าเมื่อรับประทาน หรือสูดดมกลิ่นตะไคร้แล้วมีอาการแพ้ ควรหยุดการใช้ และปรึกษาแพทย์ อย่างไรก็ดีตะไคร้เป็นพืชที่มีสรรพคุณและประโยชน์มากมาย เมื่อนำมาประกอบอาหารก็เป็นเหมือนสมุนไพร ช่วยบำรุงธาตุไฟในร่างกายให้เป็นปกติ และต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน จึงจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงปลอดโรค เพื่อใช้ชีวิตทำกิจกรรมที่คุณรักไปได้ยาวนาน
ที่มา : www.rspg.or.th