เทศกาลกินเจ เป็นหนึ่งในช่วงเวลาสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีน ที่จะทำบุญด้วยการรักษาศีล 8 ตามพุทธนิกายมหายาน รวมถึงการงดกินเนื้อสัตว์ กระดูก และไขมันจากสัตว์ ในช่วงนี้คนกินเจจะหันมากินผัก ธัญพืช ถั่ว แป้ง เต้าหู้ แทนเนื้อสัตว์

แต่จะงดเว้นผักที่มีกลิ่นฉุน 5 อย่าง ได้แก่ กระเทียม หอม กุยช่าย หลักเกียว ยาสูบ จึงมีคำกล่าวที่ว่า “กินเจหนึ่งมื้อ หมื่นชีวิตรอดตาย”

ผู้กินเจจะได้บุญกุศลจากการละเว้นเนื้อสัตว์ ทว่าสิ่งหนึ่งที่อยากให้ตระหนัก คือ การกินอาหารเจที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดีด้วย แม้ว่าช่วงกินเจจะเป็นช่วงสั้นๆ 9-10 วัน แต่ร่างกายเราก็ยังคงต้องการสารอาหาร โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุและไขมันทั้ง 5 หมู่เช่นเดิม

ถ้าเราเน้นกินแต่ผักผลไม้ ข้อดีคือ ร่างกายจะได้วิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น แถมยังเป็นการพักระบบย่อยอาหาร เพราะผัก ผลไม้ย่อยได้ง่ายกว่าเนื้อสัตว์มาก ใยอาหารยังไปช่วยล้างลำไส้อีกด้วย

แต่อย่าลืมว่า ร่างกายก็ยังต้องการโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตด้วย โปรตีนจากพืชเช่น ธัญพืช ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ฟองเต้าหู้ เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง ถั่วเหลืองผง โปรตีนเกษตร งา ก็ยังเป็นเมนูอาหารที่จำเป็น โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์ เพราะมีกรดอะมิโนใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดโปรตีน โดยกินพร้อมกับข้าวขาว ข้าวกล้อง หรืออาหารประเภทเส้น เพื่อให้ได้คาร์โบไฮเดรตร่วมด้วย

ส่วนไขมัน เป็นสารอาหารที่ไม่น่าห่วงว่าจะขาดในช่วงเทศกาลกินเจ เพราะอาหารเจมักจะเป็นพวกที่ปรุงโดยการทอดและผัด แม้จะปรุงด้วยการต้มหรือแกงก็ยังใส่น้ำมันเยิ้มๆทุกเมนูทำให้เรามีโอกาสได้รับไขมันเกินความต้องการของร่างกาย (เกิน 6 ช้อนชาใน 1 วัน)

...

อีกทั้ง อาหารเจหลายเมนูมีรสเค็ม แน่นอนว่าต้องปรุงด้วยเครื่องปรุงที่มีปริมาณโซเดียมสูง เมื่อเราทานเข้าไปก็อาจทำให้ได้รับโซเดียมมากเกินไป หรือเกินความต้องการของร่างกาย (WHO แนะนำให้ใน 1 วัน ร่างกายควรได้รับโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเกลือ 1 ช้อนชา) ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตได้

ฉะนั้น นอกจากจะต้องเลือกซื้อ เลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ที่มีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัยจากทั้งสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง วัตถุกันเสีย สีสังเคราะห์ และเชื้อก่อโรคปนเปื้อนแล้ว เราจะต้องเลือกทานเมนูที่มีความมัน เค็มและหวานน้อยด้วย ไม่มันเยิ้ม เค็มจัด และหวานจัดจนเกินไป เพื่อให้ได้ทั้งความอิ่มบุญ อิ่มใจ และสุขภาพที่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้

ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 0-2422-8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/ 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย