ชีวิตยามที่ต้อง อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ผู้คนต่างพากันกักตุนอาหาร จะได้ไม่ต้องออกจากบ้านไปไหนมาไหนให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และหนึ่งในไอเท็มยอดฮิตคงหนีไม่พ้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋อง ผักกาดดอง โจ๊กซอง และอาหารสำเร็จแช่แข็ง ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารไฮโซเดียม เปี่ยมไปด้วยความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง แถมไตต้องมาทำงานหนักขับออก ปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซองอยู่ที่ 1,500 มก. ถ้าใส่ปลากระป๋องลงไปอีก 1 ป๋อง เสริมโซเดียมเข้าไปอีก 600 มก. รวมมื้อนี้ฟาดโซเดียมไปถึง 2,100 มก. เกินโควตาที่วันหนึ่งแนะนำไม่ให้กินเกิน 2,000 มก. นี่แค่มื้อเดียวก็เกินลิมิตไปแล้ว

อาหารที่กักตุนต้องไม่เสี่ยงให้ความดันขึ้น ไตทำงานหนัก ต้องสกัดโรคเรื้อรัง จากการกินอาหารโซเดียม สูง พลังงานสูง และไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายไปไหน ...ไม่งั้นจะตัวบวม น้ำหนักขึ้น ไขมันสูง ความดันเพิ่ม ลองเปลี่ยนเป็นกักเก็บในหมวดคาร์โบไฮเดรต เป็นวุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์–เบอร์รี หมวดโปรตีน เป็นเนื้อปลาสด (แล่เป็นชิ้นแช่แข็งไว้) ไข่ไก่ ถั่ว ธัญพืชต่างๆ เต้าหู้ถั่วเหลือง ถ้าเป็นทูน่ากระป๋อง ก็เลือกแบบแช่ในน้ำแร่ หมวดไขมัน เลือกน้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว หมวดผักผลไม้ เลือกผักผลไม้ที่เก็บได้ทน เช่น บรอกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แครอท ไชเท้า คะน้า ผลไม้ก็พวกแอปเปิ้ล กล้วย อะโวคาโด ฯลฯ เราควรเก็บไว้ให้กินได้สัก 7-10 วัน แล้วค่อยออกไปซื้อมาเก็บใหม่

...

สำหรับท่านที่สนใจรายละเอียดความรู้เรื่องสุขภาพเพิ่มเติมสามารถลงเรียนออนไลน์ เรื่อง โภชนาการและสมุนไพรเพื่อส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ต้านโรค และชะลอวัย จัดโดยมูลนิธิคุณแม่คุณภาพ ร่วมกับชมรมโภชนวิทยามหิดล วิทยากร ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์, ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์, ผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการ และ รศ.ดร.ภก.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ โดยจะอบรมสดออนไลน์ ในวันเสาร์ที่ 9 และ 16 พ.ค.นี้ รายละเอียดที่ https://www.facebook.com/pg/DDseminarThai  หรือโทร. 08-6310-0047.