วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามีบทบาทมากกับคนไทยรุ่นใหม่ๆ สังเกตได้จากสิ่งใกล้ตัวเริ่มจากเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อาหารการกินที่วันนี้มีทั้งชีสและเนยเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งอาหารที่เป็นจานด่วน ส่วนของหวานหนีไม่พ้น ช็อกโกแลตนานาชนิด
ช่วงวันแห่งความรักหรือวาเลนไทน์ยิ่งไปกันใหญ่ หนุ่มสาวตั้งแต่วัยมัธยมไปถึงอุดมศึกษาต่างซื้อหาช็อกโกแลตสีสันสวยงาม มอบเป็นของแทนใจให้คนที่รัก แม้ช็อกโกแลตจะเป็นของหวานแสนอร่อย แต่ยังมีอันตรายแอบแฝง
ทั้งแคดเมียมและตะกั่ว โดยเฉพาะช็อกโกแลตที่มีโกโก้แมสมาก ยิ่งเสี่ยงพบการปนเปื้อน
แคดเมียม ที่บริโภคเข้าไปจะมีพิษเฉียบพลันทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ น้ำลายไหล ปวดท้อง ไตและตับถูกทําลาย หากได้รับเป็นเวลานานติดต่อกัน ส่งผลต่อระบบไต กระดูก ทำให้เป็นโรคอิไต หรือโรคกระดูกผุ เป็นพิษต่อระบบเลือดเข้าสู่หัวใจ การสร้างเม็ดเลือด สาเหตุโรคโลหิตจาง
ส่วนตะกั่ว มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทําให้เกิดอาการโลหิตจาง ตะกั่วบางส่วนจะไปสะสมในกระดูกทําให้มีอาการปวดตามข้อ กระดูกผุและหักง่าย ถ้าไปสะสมที่รากฟันจะทําให้เห็นสีม่วงหรือสีดําบริเวณเหงือก
เพื่อคลายความกังวลวันนี้ สถาบันอาหาร จึงทำการสุ่มตัวอย่างช็อกโกแลต ทั้งดาร์กช็อกโกแลตและช็อกโกแลตนม จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ นำมาตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อน โดยผลวิเคราะห์ที่ได้พบว่า ช็อกโกแลตทั้ง 5 ตัวอย่างไม่พบตะกั่วปนเปื้อน แต่พบแคดเมียมปนเปื้อนในทุกตัวอย่าง
อย่าตระหนกตกใจกันไป เพราะปริมาณที่ตรวจพบยังไม่เกินค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ที่กำหนดให้พบแคดเมียมปนเปื้อนในช็อกโกแลต (ชนิดที่มีปริมาณโกโก้ ≥ 50% ถึง < 70%) ได้ไม่เกิน 0.8 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และในช็อกโกแลต (ชนิดที่มีปริมาณโกโก้ ≥ 70%) ได้ไม่เกิน 0.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
...
วาเลนไทน์ปีนี้สบายใจกันได้ ส่วนท่านที่เป็นขาประจำช็อกโกแลต ขอแนะว่า ควรทานอาหารอื่นที่มีประโยชน์สลับกันไปด้วย พร้อมกับออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัยและมีร่างกายที่แข็งแรง.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย