วิถีชีวิตของคนต่างจังหวัด นอกจากได้สัมผัสอากาศบริสุทธิ์จากท้องไร่ ท้องนา วันหยุดก็จับปลาหรือเก็บผักสดมาปรุงอาหาร หากทานไม่หมดยังนำมาแปรรูปให้เก็บรักษาได้นานขึ้น
กุ้งจ่อม ปลาจ่อม อาหารอีสานอีกหนึ่งเมนูที่ผ่านการแปรรูปด้วยการหมัก โดยนำกุ้งสดมาหมักกับเกลือ ข้าวคั่ว กระเทียมบด บางสูตรใช้น้ำปลาเป็นตัวช่วยทำให้กุ้งไม่เค็มจัด และเพิ่มกลิ่นหอมด้วยการผสมข้าวคั่ว ใช้เวลาหมัก 5-10 วัน ก็นำมาทานได้
กุ้งจ่อมมีรสเปรี้ยวและเค็มเล็กน้อย เมื่อทานจะรู้สึกเหมือนทานกุ้งดิบ แต่เนื้อกุ้งจ่อมจะมีลักษณะนุ่ม มัน ไม่มีกลิ่นคาว รสชาติอร่อยอีกแบบ ชาวอีสานนิยมทานพร้อมพริกสด และผักเคียงนานาชนิด
แม้กุ้งจ่อมจะผ่านการหมักและใส่เกลือแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นอาหารดิบ ที่มักพบพยาธิและเชื้อก่อโรคต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อก่อโรคท้องร่วงปนเปื้อนได้ หากกรรมวิธีการปรุง การหมัก ไม่รักษาความสะอาดให้ดีเพียงพอหรือไม่ล้างวัตถุดิบให้สะอาด หรือผู้ปรุงไม่รักษาสุขลักษณะส่วนบุคคลให้ดีเพียงพอ
เชื้อก่อโรคที่อาจพบ เช่น สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส เชื้อชนิดนี้พบได้ในอากาศ ฝุ่นละออง ขยะมูลฝอย น้ำ อาหาร และพบในคน สัตว์ โดยจะพบอยู่ตามทางเดินหายใจ ลำคอ เส้นผม และผิวหนัง
เมื่อเราได้รับเชื้อชนิดนี้เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน เป็นตะคริวในช่องท้องและอ่อนเพลีย บางรายอาจปวดศีรษะ และเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ
วันนี้ สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างกุ้งจ่อม จำนวน 5 ตัวอย่าง จากร้านค้า 5 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อสแตป-ฟิโลคอคคัส ออเรียส ปนเปื้อน ผลวิเคราะห์ปรากฏว่า พบปนเปื้อนในกุ้งจ่อมทุกตัวอย่าง
แต่พบในปริมาณน้อยมากๆ และยังไม่เกินเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารฯ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กำหนดให้พบ เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ปนเปื้อนในอาหารหมักพื้นเมืองได้ในปริมาณไม่เกิน 100 CFU/กรัม
...
ท่านที่ชอบกุ้งจ่อม ขอให้ระวังกันไว้บ้าง นำมาปรุงให้สุกก่อนทานจะปลอดภัยกว่า.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย