ไม่กี่วันมานี้มีกระแสเรื่องการปลูกกัญชาถูกกฎหมายในประเทศไทย โดยขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตทหาร 5,000 ไร่ ใน จ.สกลนคร แต่ไปๆ มาๆ ทาง อย. ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้มีการอนุญาตให้ผลิต จำหน่าย หรือครอบครองกัญชา ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และไม่เคยอนุญาตให้ปลูกในพื้นที่สกลนครดังกล่าว
ตอนนี้มีแค่ 'มหาวิทยาลัยรังสิต' แห่งเดียวที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้มีการครอบครองกัญชาเพื่อใช้ในโครงการศึกษาวิจัยที่จะพัฒนาสารสกัดจากกัญชาไปใช้ในประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น
เอาเป็นว่าเรื่องนี้จะมีความคืบหน้ายังไงก็คงต้องติดตามกันต่อ แต่สำหรับในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย กัญชาถูกมองในฐานะพืชสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งในการแพทย์และใช้ผสมลงในอาหาร กินได้แบบไม่ผิดกฎหมาย
วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ เลยหาข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาที่น่าสนใจมาฝากกัน
1. กัญชา VS กัญชง
กัญชา (cannabis) เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า ต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ใบแตกเป็นแฉกคล้ายใบสัมปะหลังหรือใบละหุ่ง ริมใบทุกแฉกมีลักษณะเป็นจักๆ ใบหนึ่งมีราว 5-8 แฉก ในก้านเดียวกัน ออกดอกตามง่ามกิ่งก้าน จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
...
ในกัญชามีสารเคมี cannabinoids อยู่จำนวนหนึ่ง โดยสารเคมีกลุ่มนี้มีสารสำคัญที่เชื่อว่าออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเรียกว่าสาร THC ฤทธิ์ของกัญชาเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย จะแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 นาที และจะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้สูงสุดถึง 1 ชั่วโมง อาการโดยทั่วไปจะเซื่องซึมลงอย่างช้าๆ แต่บางรายก็ลดลงอย่างรวดเร็ว
ส่วน กัญชง หรือ เฮมพ์ (HEMP) เป็นพืชชนิดย่อยของกัญชา มีลักษณะทางกายภาพคล้ายกัญชามาก แต่สิ่งแตกต่างคือ กัญชงจะมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลหรือ THC ในปริมาณที่ต่ำกว่ากัญชา สารตัวนี้จะเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งก็ถือว่า กัญชง เป็นสารเสพติดเช่นกัน
2. โทษของกัญชา
ผู้เสพกัญชาจะมีอาการเคลิ้มจิต ในขั้นต้นๆ มักจะเป็นอาการกระตุ้นประสาท เกิดอาการวิตกกังวลและหวาดระแวง ต่อมาก็มีอาการเคลิ้ม จากนั้นมักจะมีปฏิกิริยาที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เดี๋ยวหัวเราะลั่นเดียวสงบ ส่วนอาการอื่นๆ ที่พบคือ รู้สึกล่องลอย ปากแห้ง สับสน อยากอาหาร ชีพจรเพิ่มขึ้น ตาแดงขึ้น หากเสพเป็นประจำจะทำให้สุขภาพเสื่อมลง ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ ทางเดินหายใจอักเสบ ตะคริว ท้องร่วง
3. ประโยชน์ของกัญชา
ว่ากันว่าสาร THC ในกัญชามีสรรพคุณช่วยลดอาการปวด มีเรื่องเล่าว่าพระนางเจ้าวิคทอเรียแห่งประเทศอังกฤษ ทรงเคยใช้สารสกัดจากกัญชารักษาพระอาการปวดก่อนมีประจำเดือน
นอกจากนี้ สารสกัดจากกัญชายังใช้เป็นยารักษาโรคอีกหลายอย่าง เช่น บรรเทาอาการปวดผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย, ใช้รักษาโรคต้อหิน, กระตุ้นความอยากอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์, แก้อาเจียนสำหรับผู้ป่วยที่ให้คีโม, ช่วยรักษาโรคลมชัก, บรรเทาอาการทางเดินอาหารอักเสบ เป็นต้น
4. กัญชารักษามะเร็ง
มีผลงานการวิจัยในวารสาร เจอร์นัล ออฟ คลินิคัล อินเวสติเกชัน (Journal of Clinical Investigation) ของสหรัฐฯ ฉบับเดือนเมษายน 2552 ระบุว่า กิลเลอร์โม เวลาสโก นักวิจัยของมหาวิทยาลัยคอมพลูเทนส์ ในกรุงมาดริด ประเทศสเปนและคณะ ค้นพบว่า สารสำคัญในกัญชามีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งสมองได้
ทีมนักวิจัยได้ทดลองนำสาร THC ที่สกัดได้จากกัญชา ฉีดให้หนูทดลองที่เป็นมะเร็งในสมองชนิดเดียวกับในคน พบว่ากลุ่มเซลล์มะเร็งบริเวณดังกล่าวค่อยๆ ลดลง จากนั้นได้ทดลองกับผู้ป่วยอาสาสมัคร 2 ราย ที่เป็นเนื้องอกในสมองขั้นรุนแรง โดยการให้สาร THC เข้าไปในสมองโดยตรง และเมื่อตรวจชิ้นเนื้อเยื่อจากบริเวณดังกล่าวเปรียบเทียบกัน พบว่ามีการทำลายเซลล์เนื้องอกเพิ่มมากขึ้น
...
5. รูปแบบของกัญชา
ปัจจุบันรูปแบบของกัญชาที่พบ จะพบในลักษณะของกัญชาสด, กัญชาแห้ง, กัญชาแห้งอัดเป็นแท่งเป็นก้อน นอกจากนี้ยังอาจพบในรูปของ น้ำมันกัญชา (Hashish Oil), ยาเม็ด, สเปรย์ฉีดพ่นเข้าทางปาก เป็นต้น
6. รัฐแคลิฟอร์เนีย กัญชาเพื่อสันทนาการ
เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐล่าสุดที่อนุญาตให้ขายกัญชาเพื่อสันทนาการได้ นอกเหนือจากการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค โดยกำหนดว่าผู้ใหญ่อายุไม่ต่ำกว่า 21 ปี สามารถปลูกกัญชาได้ไม่เกิน 6 ต้น และครอบครองกัญชาได้ไม่เกิน 1 ออนซ์ มีการออกใบอนุญาตซื้อขายกัญชาชั่วคราวไปแล้วเกือบ 200 ใบ
นอกจากแคลิฟอร์เนียแล้ว ปัจจุบันมีอีก 7 รัฐในสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสันทนาการ คือ โคโลราโด, วอชิงตัน, ออริกอน, อะแลสกา, เมน, แมสซาชูเซตส์, เนวาดา
...
7. กัญชาในแคนาดา
มีรายงานข่าวว่า รัฐบาลแคนาดา กำลังจะมีการออกกฎหมายให้เสพกัญชาเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกต้อง โดยอนุญาตให้ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถปลูกต้นกัญชาภายในบ้านเพื่อไว้เสพมากสุด 4 ต้น ครอบครองได้ไม่เกิน 30 กรัม หลังจากที่ก่อนหน้าที่รัฐบาลอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2544 คาดว่าแคนาดาจะประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในวันชาติแคนาดา 1 ก.ค. 2561
แต่ทั้งนี้ ยังถือว่ากัญชายังคงเป็นสารควบคุม หากพบว่ามีการลักลอบจำหน่าย เสพแล้วขับ รวมถึงส่งออกหรือนำเข้า ยังถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี
8. กัญชาในออสเตรเลีย
รัฐบาลออสเตรเลียตั้งเป้าเป็นผู้นำโลกส่งออกกัญชาเพื่อการแพทย์อันดับ 1 ของโลก โดยกำหนดให้การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์เป็นเรื่องถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2016 ที่ผ่านมา ส่วนการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่
การส่งออกกัญชาเพื่อการแพทย์ นอกจากกัญชาแห้งแล้ว ยังครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกัญชา เช่น น้ำมัน แผ่นแปะ สเปรย์ ยาอม และยาเม็ด
...
9. เทรนด์อาหารแนวใหม่ 'ใส่กัญชา'
มีรายงานข่าวว่า เชฟคนดังแห่งนครลอสแอนเจลิส 'Chris Sayegh' ใช้กัญชานำมาปรุงอาหารชั้นเลิศหลากหลายเมนู ผู้บริโภคจะได้รับความรู้สึกที่แตกต่างกัน ตั้งแต่เริ่มทานและหลังจากทานไป 5-10 นาที เป็นประสบการณ์ใหม่แห่งการชิมอาหาร เชฟคนนี้บอกอีกว่า ผลิตภัณฑ์กัญชาที่รับประทานได้ ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป โดยในร้านอาหารของเขา เขารังสรรค์เมนูใส่กัญชามาให้นักชิมได้ลองเป็นคอร์สอาหาร 10 เมนู
10. เมนูกัญชา
กัญชาส่วนใหญ่ที่นำมาผสมอาหาร มักอยู่ในรูปน้ำมัน (cannabis oil) ปัจจุบันเมนูใส่กัญชาที่พบมากในต่างประเทศ ได้แก่ คุกกี้กัญชา, บราวนี่กัญชา, ชาร้อนชงจากกัญชาแห้ง, พิซซ่าแป้งกัญชา, พาสต้ากัญชา, ขนมมัฟฟินกัญชา, ขนมปังกระเทียมโรยกัญชา, แซนด์วิชเนยกัญชา (Cannabutter), สลัดผักใส่น้ำสลัดกัญชา (Cannabis oil), ไอศกรีมกัญชา (Cannabis Ice cream) เป็นต้น
ที่มาบางส่วน : cnn, narcotic.fda.moph, bbcthai, wikipedia