เนื้อหมู แหล่งโปรตีนสำคัญและเป็นเนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆของคนไทย เพราะนำมาทำอาหารได้หลากหลาย เช่น กะเพราหมู ลาบหมู หมูน้ำตก แกงจืดหมูสับ และเมนูยอดฮิตคือ หมูกระทะ หมูจุ่ม

ในเนื้อหมูนอกจากจะอุดมไปด้วยโปรตีนแล้วยังเป็นแหล่งของสารอาหารอื่นๆ เช่น วิตามินบี 1 ช่วยลดอาการเหน็บชา วิตามินเอช่วยบำรุงสายตา มีฟอสฟอรัสและไนอาซีน (วิตามินบี 3) ช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง บำรุงสมอง พบมากในเนื้อส่วนที่ไม่ติดมัน

แม้เนื้อหมูจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็อาจมีสารที่เป็นอันตรายตกค้างอยู่ด้วยได้ เช่น ยาปฏิชีวนะที่เป็นยาใช้รักษาสัตว์ป่วย (ใช้ในปริมาณสูง) และใช้ในอาหารสัตว์ (ปริมาณต่ำ) เพื่อป้องกัน ลดโรคจากการติดเชื้อ และปรับปรุงประสิทธิภาพของอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต

หากใช้ในปริมาณไม่มากและใช้ตามวิธีการหรือหลักการที่เหมาะสม ก็ไม่น่ามีปัญหา

แต่หากใช้ปริมาณมากๆ หรือใช้เกินความจำเป็น แน่นอนว่าต้องมียาเหลือตกค้างในเนื้อหมู และส่งผลต่อผู้บริโภคได้ รายที่มีการแพ้ก็จะทำให้มีอาการรุนแรง

ที่สำคัญ หากเป็นการตกค้างของยาปฏิชีวนะชนิดที่ใช้รักษาโรคในคน เช่น เททระไซคลิน คลอร์เททระไซคลิน ก็อาจทำให้ร่างกายสร้างเชื้อที่ดื้อยาชนิดนี้ขึ้นมาได้ ทำให้เมื่อใช้ยาตัวนี้รักษาโรคจะไม่ได้ผล

สถาบันอาหารตระหนักถึงความปลอดภัยของคนไทย จึงเก็บตัวอย่างเนื้อหมูสด จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ที่ขายในซุปเปอร์มาร์เกต ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะ คลอร์เททระไซคลีน

ผลที่ได้พบว่า เนื้อหมูสดทุกตัวอย่าง ไม่พบ คลอร์เททระไซคลิน ตกค้าง

นอกจากปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะตกค้างแล้ว ควรเลือกซื้อเนื้อหมูสดที่คุณภาพดีด้วย วิธีง่ายๆคือ เลือกเนื้อหมูที่มีสีชมพูอ่อน เมื่อใช้นิ้วกดลงไปแล้วไม่ยุบ หากมีสีคล้ำหรือมีกลิ่นให้หลีกเลี่ยง.

...