เครื่องประดับ “สร้อยข้อมือชาร์ม” มีประวัติความเป็นมายาวนานหลายหมื่นปี ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ “จี้ประดับชาร์ม” ทำขึ้นจากเปลือกหอย, กระดูกสัตว์ หรือดินเหนียว หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นอัญมณี, แร่หิน และไม้ มีหลักฐานปรากฏให้เห็นจากเครื่องประดับชาร์มที่พบเจอในทวีปแอฟริกา อายุเก่าแก่กว่า 75,000 ปี ส่วนในเยอรมันมีการค้นพบชาร์มที่ทำจากงาช้างแมมมอธแกะสลัก มีอายุราว 30,000 ปี
...
ตามความเชื่อของอียิปต์โบราณ จะใช้ชาร์มเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ และความโชคดีขณะที่ยุคจักรวรรดิโรมันรุ่งเรือง ชาวคริสเตียนพกชาร์มรูปปลาตัวเล็กๆเพื่อพิสูจน์ตัวเอง นักวิชาการยิวมักเขียนข้อกฎหมายใส่ไว้ในชาร์มแล้วห้อยติดคอ เป็นนัยว่ากฎหมายอยู่ใกล้หัวใจตลอดเวลา แม้แต่อัศวินยุคกลางก็ยังใส่ชาร์มเป็นเครื่องราง
สร้อยข้อมือชาร์มชิ้นแรกถือกำเนิดตั้งแต่ช่วง 400-600 ปีก่อนคริสตกาล สวมใส่โดยชาวอัสซีเรีย, บาบิโลเนีย, เปอร์เซีย และฮิตไทต์ แต่เริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายในยุค “สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร” พระองค์โปรดการสวมสร้อยข้อมือชาร์ม และสร้างเทรนด์แฟชั่นการใส่ชาร์มในหมู่ชนชั้นสูงยุโรป หนึ่งในสร้อยข้อมือชาร์มเส้นโปรดคือ เส้นที่พระสวามี “เจ้าชายอัลเบิร์ต” มอบให้เป็นของขวัญ เมื่อปี 1840 เป็นสายสร้อยข้อมือประดับชาร์มรูปหัวใจ 9 ดวง เคลือบเป็นสีต่างๆไม่ซ้ำกัน หัวใจแต่ละดวงเป็นตัวแทนของพระองค์ทั้งสอง พระราชโอรส และพระราชธิดา สามารถเปิดออกได้
...
ด้านหนึ่งแกะสลักพระนาม และวันประสูติ อีกด้านใส่เส้นพระเกศาของพระราชวงศ์ ควีนวิกตอเรียยังพระราชทานสร้อยข้อมือชาร์มเป็นของขวัญแก่เชื้อพระวงศ์และพระสหายในโอกาสพิเศษ หลังจากเจ้าชายอัลเบิร์ตเสด็จสวรรคต ทรงทำชาร์มแกะสลักโดยใส่ภาพวาดและเส้นผมของพระสวามีไว้ในล็อกเกตเพื่อระลึกถึง
...
ในยุคต่อมา สร้อยข้อมือชาร์มได้แพร่หลายมาฝั่งเอเชีย โดย “มร.เพียร์ อีนีโวลด์เซ่น” ช่างทองชาวเดนมาร์ก และภรรยา อยากนำเสนอเครื่อง ประดับงานฝีมือคุณภาพสูง รูปแบบทันสมัย ในราคาครอบครองได้ จึงก่อตั้งแบรนด์ “PANDORA” ในช่วงเริ่มต้นกิจการทั้งคู่มีโอกาสเดินทางมาเมืองไทย ทำให้พบแหล่งวัตถุดิบและอัญมณีมากมาย อีกทั้งยังค้นพบช่างทำเครื่องประดับมากฝีมือ เมื่อปี 1989 ทั้งคู่ตัดสินใจเริ่มผลิตเครื่องประดับชาร์มในเมืองไทย และพัฒนาจนเป็นฐานการผลิตเครื่องประดับแพนดอร่า เพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก โดยปัจจุบันแพนดอร่าเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องประดับรายใหญ่ที่สุด ด้วยกำลังช่างฝีมือไทยกว่า 12,000 คน ภายในนิคมอุตสาหกรรมอัญธานี.