ในอดีต วัฒนธรรมการแต่งกายมีความสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องพื้นที่อย่างน่าสนใจ ถ้าพื้นที่ส่วนตัว (Private Space) หมายถึงการอยู่พื้นที่เฉพาะที่มีตัวเราเป็นศูนย์กลางปราศจากบุคคลอื่น เราจะพบว่าเสื้อผ้าในพื้นที่ปิดมักถูกสร้างขึ้นเพื่อความพึงใจของเราเป็นสำคัญ หรือไม่อย่างนั้นก็เน้นที่ประโยชน์ใช้สอยซึ่งสัมพันธ์กับสุขลักษณะของผู้สวมใส่ ชุดนอนหรือชุดชั้นในแต่อดีตจึงมักทำจากวัสดุชั้นดี เช่น ผ้าลินิน และผ้าไหม อีกทั้งยังต้องมีสีขาว เพราะมันสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า ‘ความขาว’ หมายถึง ‘ความสะอาด’ อันเป็นเอกสิทธิ์สำหรับชนชั้นสูง

ในทางตรงข้าม พื้นที่สาธารณะ (Public Space) ก็คือพื้นที่ที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เราจึงแต่งตัวให้คนอื่นได้จ้องมอง เครื่องแต่งกายเลยได้รับเลือกให้เป็นอุปกรณ์ทางสังคม ซึ่งจะเกิดผลก็ต่อเมื่อ ‘พวกมันถูกมองผ่านบุคคลอื่น’ (Object of Gaze) เสื้อผ้าจึงทำหน้าที่ดั่งสารที่บอกข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราเองว่า ฉันเป็นใคร ฉันเพศไหน หรือฉันเป็นคนจากชนชั้นใด

แนวคิดของเส้นแบ่งพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะในฝั่งตะวันตกเริ่มเหลื่อมล้ำกันมากขึ้นหลังยุคที่มีการออกสำรวจโลก มีการล่าอาณานิคม และมีการเกิดขึ้นของชนชั้นกลาง (Bourgeoisie) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 จนเมื่อสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ศิลปะและภาพเขียนจำนวนมากจึงเริ่มให้ความสำคัญกับช่วงเวลาส่วนตัวของบุคคล (Intimate Moment) จนในที่สุดภาพวาดชายหนุ่มและหญิงสาวชั้นสูงขณะแต่งตัวในสภาพกึ่งเปลือยเปล่า หรือภาพหนุ่มสาวสวมชุดชั้นในได้ปรากฏให้เห็นในประวัติศาสตร์ภาพวาดในที่สุด

...

ยิ่งไปกว่านั้นมารยาททางสังคมใหม่ๆ ก็ได้รับการยอมรับ อย่างเรื่องการอนุโลมให้ชนชั้นสูงสามารถต้อนรับผู้มาเยือนที่มีสถานะเท่ากันหรือต่ำกว่าในชุดนอนและเสื้อคลุม หรือการยอมเปิดเผยเสื้อชั้นในของสุภาพบุรุษในอดีตที่เรียกว่า ‘เชิ้ต’ ผ่านการปล่อยให้ชายแขนเชิ้ตและปกเสื้อสีขาวโผล่พ้นตัวแจ็กเก็ต เป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เสื้อผ้าหลายต่อหลายชิ้นที่เดิมถูกสร้างขึ้นสำหรับใช้ประโยชน์เฉพาะในพื้นที่ส่วนตัวและไม่ควรเปิดเผย ถูกยอมรับในพื้นที่สาธารณะในที่สุด เสื้อยืด (T-shirt) สีขาว ที่เคยทำหน้าที่ดั่งชุดชั้นในไว้คอยซับเหงื่อไคล และลดกลิ่นกายก่อนใส่เสื้อชั้นนอกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงกลายเป็นเสื้อใส่ภายนอกดั่งการปรากฏภาพทหารอากาศอเมริกันถืออาวุธปืนในชุดเสื้อยืดพิมพ์ลายบนปกนิตยสาร LIFE ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1942 ซึ่งไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับว่าเสื้อชั้นในสามารถนำมาสวมใส่ในพื้นที่สาธารณะได้ในที่สุด แต่ยังเป็นการสร้างความหมายใหม่ให้กับเสื้อยืดที่หมายถึง ‘ความเท่’ และ ‘ความแมน’ ในแบบวีรบุรุษ

ภาพเสื้อชั้นในอย่างเสื้อยืดที่กลายเป็นเสื้อสวมภายนอก ยังถูกตอกย้ำด้วยภาพของพระเอกหนุ่มมาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando) จากภาพยนตร์เรื่อง A Streetcar Named Desire ในปี ค.ศ. 1951 ทั้งนี้ ความหยาบกร้านของตัวละครถูกแสดงผ่านคราบเหงื่อไคลบนเสื้อกล้ามแสนสกปรก และยิ่งเป็นเรื่องตลกร้ายมากขึ้นหากนึกถึงชื่อเล่นอย่างเป็นทางการของเสื้อกล้ามในภาษาอังกฤษที่เรียกกันทั่วไปว่า Wife Beater หรือแปลว่า ‘พวกชอบตบตีเมีย’

เสน่ห์ผู้ชายแบบดิบๆ แมนๆ ของแบรนโดจึงช่วยส่งให้เสื้อยืดถูกโยงเข้ากับความเย้ายวนทางเพศ เสื้อยืดที่เคยเป็นชุดชั้นในและมีให้เห็นเฉพาะในพื้นที่ส่วนตัว จึงกลับมีบทบาทในพื้นที่สาธารณะ โดยช่วยส่งให้ผู้ชายที่สวมใส่ดูดิบเท่เช่นเดียวกัน

...

ในช่วงทศวรรษ 1980s เสื้อยืดได้กลายเป็นเครื่องแต่งกายภายนอกมากขึ้น ผ่านซีรีส์ตำรวจจับผู้ร้ายเรื่อง Miami Vice ที่ตัวละครเจมส์ ซึ่งแสดงโดย ดอน จอห์นสัน (Don Johnson) ปฏิเสธรูปแบบเดิมๆ ของชุดยูนิฟอร์ม แล้วเติมความห่ามให้คาแรกเตอร์ผ่านเสื้อผ้าสีออกหวานแบบเสื้อยืดสีอ่อน ทับด้วยเสื้อสูทสีพาสเทลจากอาร์มานี่ แล้วเสื้อยืดกับความดิบเท่ก็ถูกตอกย้ำกันหนักๆ อีกครั้งในปี 2006 ผ่านภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ตอน Casino Royale ซึ่งมีภาพแดเนียล เคร็ก สลัดชุดสูททักซิโดออกไล่ล่าคนร้ายในชุดเสื้อยืดกางเกงยีนส์

นอกจากเสื้อยืดจะหอบหิ้วความเชื่อระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะแล้ว เสื้อยืดในปัจจุบันยังทำหน้าที่เหมือนเครื่องมือสื่อสารทางการตลาดและการเมืองได้อีกด้วย ดังตัวอย่างของคำว่า ‘โสด’ บนเสื้อยืดสมัยเบิร์ด-ธงไชยในซิงเกิล “คนไม่มีแฟน” เมื่อปี 2001 (พ.ศ. 2544) หรือในประเทศฝั่งตะวันตกช่วงทศวรรษ 1980s ผ่านงานออกแบบของดีไซเนอร์ชาวอังกฤษทั้งวิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood) และ แคทเธอรีน แฮมเนตต์ (Katharine Hamnett)

...

แฮมเนตต์คนนี้ถือว่ามีความสำคัญในการเปลี่ยนเสื้อยืดให้เป็นสถานที่แสดงออกทางการเมืองได้อย่างดียิ่ง ดังตัวอย่างการพิมพ์ข้อความ “58% Don't Want Pershing” สมัยเธอเข้าพบนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นางมาร์กาเรต แทตเชอร์ เพื่อแสดงสถิติคนอังกฤษที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ประเทศอังกฤษเป็นฐานทัพขีปนาวุธของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือวงดนตรีดังอย่าง Wham! ที่เลือกสวมเสื้อยืดที่แฮมเนตต์ออกแบบพร้อมสโลแกนประกาศจุดยืนของวงอย่าง “Choose Life” “Wake Me Up Before You Go Go” และ “Number One”

ดังนั้น เสื้อยืดในวันนี้นอกจากจะเดินทางจากพื้นที่ส่วนตัวสู่พื้นที่สาธารณะแล้ว พวกมันยังแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องมือทางสังคมเหมือนกับที่แฮมเนตต์เคยพูดไว้ “การสวมเสื้อยืดที่พิมพ์ข้อความก็ไม่ต่างจากการแสดงให้คนอื่นรู้ได้ว่า คุณเป็นใครและกำลังคิดอะไร” ด้วยเหตุนี้เสื้อยืดในอดีตที่เคยเป็นเพียงชุดชั้นในจึงกลายเป็นเครื่องแต่งกายทางสังคมที่แสนสำคัญในปัจจุบัน ดังตัวอย่างอันชัดเจนในประเทศไทยผ่านเสื้อยืดสีเหลืองกับเสื้อยืดสีแดง

...

ที่มา - GQ Thailand
www.gqthailand.com