ส่งเสริมผ้าไหมไทยสู่แฟชั่นระดับโลก สถาบันงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมนำผ้าไหมไทยร่วมสมัย 50 ชิ้นงาน ภายใต้โครงการ “ศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย” หรือ โมเดิร์นไทยซิลค์ ไปจัดแสดงในงาน “Premiere Vision 2014” งานแสดงสิ่งทอและผ้าผืนระดับโลก ในวันที่ 18-20 ก.พ. นี้ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยได้นำผ้าไหมไทยที่จะไปจัดแสดงนี้มาโชว์ ที่มิวเซียมสยาม ถนนสนามไชย เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา

อารยะ มาอินทร์ รองผู้อำนวยการ สบร.กล่าวว่า เราเล็งเห็นถึงศักยภาพผ้าไหมไทย ตลอดจนโอกาสในการสร้างสรรค์องค์ความรู้รูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์ เพื่อการต่อยอดด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าไหมให้เติบโต และมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ จึงได้มีโครงการ “โมเดิร์นไทยซิลค์” ขึ้น เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย สำหรับคอลเลกชั่น Spring/Summer 2015 โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต OTOP ที่ผลิตไหมไทยให้ได้เรียนรู้เข้าใจถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ โดยตั้ง เป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์รูปแบบคุณภาพผ้าไหมไทยสู่การเป็นผ้าที่ใช้สวมใส่ได้ทุกโอกาส

...

ด้าน ประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์ รอง ผอ.สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยและโอกาส ทางการตลาด ผู้เชี่ยวชาญได้สรุป วิเคราะห์อัตลักษณ์ ของผ้าไหมไทย 4 แบบ เพื่อสู่การพัฒนาการออกแบบผ้าไหมไทยให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความ ต้องการของตลาดโลก ได้แก่ อัตลักษณ์ความแวววาว คุณสมบัติของไหมไทยมีความสามารถในการสะท้อนแสงได้อย่างสวยงาม เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นไหมที่มาจากประเทศอื่น, อัตลักษณ์ความไม่สม่ำเสมอของเส้นด้ายและผ้าที่มีมิติ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของไหมไทย ทำให้ผ้าดูมีมิติ, อัตลักษณ์ความพลิ้วไหวและไหลลื่น เนื่องจากไหมไทยมีการออกแบบการทอแบบดั้งเดิม ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่มีความหรูหราจากอารมณ์พลิ้วไหวและไหลลื่นของสีและเนื้อผ้าจึงดูสวยงาม สุดท้าย อัตลักษณ์ลวดลายโดด-เด่นบนผ้า เอกลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น บ่งบอกถึงวัฒนธรรมความเป็นไทยที่ดูดี มีราคา ซึ่งบทวิเคราะห์จากงานวิจัยนี้ได้จัดทำเป็นหนังสือคู่มือแนวโน้มการออกแบบไหมไทยร่วมสมัยสำหรับภาคส่วนธุรกิจและประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาผ้าไหมไทยให้ร่วมสมัย มีภาพลักษณ์ ดีในสายตานักออกแบบและผู้บริโภคชาวต่างชาติ ในส่วนของการนำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย 50 ชิ้นงาน เข้าจัดแสดงในงาน “Premiere Vision 2014” ต้องผ่านกระบวนการคัดสรรหลายขั้นตอน และนับเป็นการปฏิวัติวงการผ้าไหมไทยให้สามารถก้าวสู่เวทีตลาดโลก ซึ่งงานนี้เป็นการรวมดีไซเนอร์จากแบรนด์แฟชั่นชั้นนำจำนวนมาก อาทิ กุชชี่, หลุยส์ วิตตอง, ชาแนล, เฟนดิ, คริสเตียน ดิออร์, ปราด้า, เวอร์ซาเช่ และแอร์เมส ที่เตรียมมาเลือกสรรวัตถุดิบเข้าสู่การพัฒนาสินค้าแฟชั่นของตนเองในคอลเลกชั่น สปริง/ซัมเมอร์ 2015.