ปัจจุบันกระแสความนิยมศิลปวัฒนธรรมจากประเทศจีนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในไทย ไม่ใช่เพียงแค่ภาพยนตร์ ซีรีส์ แต่ยังรวมถึงสไตล์การแต่งหน้า แต่งกาย และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมาเราอาจไม่คุ้นหูกับชื่อแบรนด์แฟชั่นจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะทำตลาดแค่ภายในประเทศของตนเอง แต่บางคนอาจไม่รู้ว่าความจริงมีแบรนด์แฟชั่นจากประเทศจีนซุ่มทำตลาดในไทยมาสักระยะหนึ่งแล้ว นั่นคือแบรนด์ Urban Revivo (เออร์เบิน รีไวโว) ที่อยู่ภายใต้บริษัท Fashion Momentum Group หรือ FMG
ด้วยภาพลักษณ์ของแบรนด์และสไตล์การออกแบบที่คล้ายกับแบรนด์ยุโรปอย่าง Zara หรือ H&M ทำให้มีน้อยคนที่จะรู้ว่านี่คือแบรนด์แฟชั่นจากประเทศจีน ซึ่งนั่นเป็นความตั้งใจของ ลีโอ หลี่ ประธานกลุ่มและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FMG ที่อยากให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์สื่อถึงความเป็นสากล จึงตั้งชื่อและออกแบบเสื้อผ้ารวมไปถึงการตกแต่งร้านที่ดูทันสมัย โดยมีเป้าหมายเพื่อออกไปทำตลาดในยุโรปและสหรัฐอเมริกาในอนาคต
...
“เรามีสโลแกนว่าทำให้โลกเรามีความเป็นแฟชั่นมากขึ้น UR (Urban Revivo) เปิดตัวในปี 2006 เป็นฟาสต์แฟชั่นแบรนด์แรกของจีน แม้ว่าจะมีความท้าทายแต่เราก็กล้าที่จะเปิดตัว เราต้องสู้กับแบรนด์ยุโรปมาถึง 18 ปี จนเป็นผู้นำแบรนด์แฟชั่นในจีน ในยุคนั้นแบรนด์จีนส่วนใหญ่มักจะแยกเป็นเสื้อผ้าของผู้ชายและผู้หญิงโดยเฉพาะแต่เรามีทั้งชายและหญิงรวมกัน นี่คือเอกลักษณ์ของเรา เราตั้งเป้าขยายไปทั่วโลกตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ ปัจจุบันเรามีกว่า 400 สาขาทั่วโลก โดยออกแบบร้าน โลโก้ ให้มีความเป็นสากล เพราะตั้งเป้าว่าจะไปที่ยุโรปและอเมริกาให้ได้ หลายคนมักจะคิดว่าเราเป็นแบรนด์ยุโรป ซึ่งเป็นความตั้งใจของเรา”
Urban Revivo สาขาแรกในไทยตั้งอยู่ที่ไอคอนสยามมาตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้การตอบรับอย่างดีจากคนไทยที่ชอบแฟชั่น และปัจจุบันได้ขยายอีกหลายสาขาในห้างต่างๆ ในกรุงเทพฯ
นอกจากแบรนด์ Urban Revivo แล้ว ล่าสุดบริษัทแม่อย่าง FMG ได้เปิดตัวสาขาแบรนด์ Benlai (เบิ่นไหล) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นในเครือนอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก โดยปักหมุดที่โซนพาเหรดในโครงการวันแบงคอก เพื่อเป็นการเปิดประตูทำตลาดนอกประเทศและเปิดโอกาสไปสู่สาขาอื่นๆ ในนิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว และฮ่องกง ในปีต่อไป
“เรามองว่าคนไทยมีความสนใจในเรื่องแฟชั่น เราอยากให้ Benlai มีความเป็นสากล การเปิดสาขาในกรุงเทพที่วันแบงคอกเพราะเป็นห้างที่มีศักยภาพสูง แบรนด์เราให้คนทุกเพศทุกวัยสวมใส่ ในราคาที่จับต้องได้ และเราใช้กลยุทธ์เดียวกับการไปทำตลาดในยุโรป แบรนด์จีนส่วนใหญ่มักจะอยู่แต่ในประเทศ แต่เราตั้งเป้าต่างชาติเพื่อให้เข้าใจความต้องการของคนทั่วโลกและนำมาปรับใช้ได้ ซึ่งคนจีนก็แต่งตัวแฟชั่นสากลมากขึ้นต่างจากเมื่อก่อน ถ้ามาทำตลาดในไทยได้ก็ไปประเทศอื่นทั่วโลกได้เช่นกัน เราต้องทำให้สินค้าเรามีความชัดเจนและเป็นเอกลักษณ์ต่างจากคนอื่น” ลีโอ กล่าว
...
สำหรับแบรนด์ Benlai ก่อตั้งในปี 2022 เป็นแบรนด์แฟชั่นในสไตล์เบสิกที่สามารถสวมใส่ได้ทุกวันในหลายๆ กิจกรรม ซึ่งมีสไตล์และจุดยืนที่ต่างจาก Urban Revivo อย่างชัดเจน โดยเน้นที่การคิดค้นเทคโนโลยีการผลิตเนื้อผ้าให้มีคุณภาพสูงสวมใส่สบายในทุกโอกาส ในราคาที่เข้าถึงได้
“เราริเริ่มแบรนด์นี้ขึ้นมา เพื่อปฏิรูปด้านการแต่งกายโดยใช้เนื้อผ้าที่ทันสมัย สวมใส่สบาย ปกติเสื้อผ้าออกกำลังกายจะเป็นแบบลำลอง เช่น ลูลูเลม่อน ยูนิโคล่ ใช้วัตถุดิบเช่นผ้าฝ้ายในการผลิต แต่เราต้องการสร้างความแตกต่างในสไตล์ลำลองด้วยการนำความสะดวกสบายมาใช้ในเนื้อผ้า”
สไตล์แฟชั่นของ Benlai คือเสื้อผ้าลำลอง ที่มีทั้งฟังก์ชันระบายความร้อนและเก็บความอบอุ่นไปพร้อมกัน เป็นนวัตกรรมการผลิตเนื้อผ้าที่ออกแบบมาเพื่อให้เข้ากับกิจกรรมในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกาย ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น
...
นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องความยั่งยืน เนื่องจากอุตสาหกรรมแฟชั่นมีส่วนสำคัญที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก Benlai จึงไม่ใช่ Fast Fashion ที่เปลี่ยนคอลเลกชันใหม่อย่างรวดเร็ว แต่เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตด้วยการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้า พร้อมทั้งมีทีม R&D (วิจัยและพัฒนา) เพื่อคิดค้นเนื้อผ้าใหม่ๆ เพื่อความยั่งยืนโดยเฉพาะ
...
“เราลงทุนในเรื่อง R&D จำนวนมาก เพราะคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นี่เป็นกลยุทธ์ของบริษัทเรา โดยมีการพัฒนา ESG และพัฒนาซัพพลายเออร์ เน้นการใช้เนื้อผ้า วัตถุดิบที่ยั่งยืน มีการรีไซเคิลพลาสติกมาทำเป็นเนื้อผ้าของเรา และมีการวิจัยร่วมกับบริษัทผลิตผ้าให้มีความยั่งยืนมากขึ้น และมีการขยายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
สาขาแรกของ Benlai อยู่ในเมืองกวางโจว และขยายสาขาไปยังมณฑลอื่นๆ ของจีน ปัจจุบันมี 21 สาขา โดยประเทศไทยเป็นสาขาแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นการเปิดประตูนำพาไปสู่ระดับสากลในประเทศอื่นๆ ต่อไป