“จักรเย็บผ้า” คืออุปกรณ์ทุ่นแรงในงานตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะในกระบวนการผลิตเสื้อผ้านั้นต้องใช้วิธีการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ของผ้า และตกแต่งผืนผ้าให้พร้อมใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ผ้าม่าน รวมถึงการปักผ้า ดังนั้นหากคุณต้องการตัดเย็บเสื้อผ้าเบื้องต้นก็ต้องรู้จักประเภทของจักรเย็บผ้าเสียก่อน
ประเภทของจักรเย็บผ้า ตามการใช้งาน
หากแบ่งประเภทของจักรเย็บผ้าตามการใช้งาน จะแบ่งได้ 2 แบบ ได้แก่
- จักรเย็บผ้าขนาดเล็ก : ใช้สำหรับงานตัดเย็บและแก้ไขเสื้อผ้าเบื้องต้น มักจะเป็นจักรเย็บ หรือจักรอเนกประสงค์ที่ปรับฝีเข็มได้ตามการใช้งาน เดินเครื่องด้วยการใช้แรงเท้า หรือใช้ไฟฟ้า
- จักรเย็บผ้าอุตสาหกรรม : ใช้สำหรับการตัดเย็บเสื้อผ้าจำนวนมาก มีความคงทน และเย็บได้เร็วกว่าจักรเย็บผ้าขนาดเล็ก เป็นเครื่องจักรเย็บผ้าไฟฟ้า และแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
5 ประเภทของจักรเย็บผ้าไฟฟ้า
...
1. จักรเย็บ
จักรเย็บ หรือจักรเย็บผ้าทั่วไป หัวจักรจะประกอบด้วยตีนผี 1 ชิ้น ที่สามารถร้อยได้เพียงคู่เดียว วิธีการเย็บนั้นต้องรักษาฝีเข็มด้านบนและด้านล่างของผ้าให้เสมอกัน เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นเย็บผ้า เพราะสามารถประกอบเสื้อผ้าได้ทั้งตัว แต่หากเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะการเย็บมากขึ้น ช่างเย็บผ้าที่ชำนาญก็มักเลือกจักรเย็บผ้าไฟฟ้าแบบอื่นๆ ด้วย
2. จักรลา
จักรลา คือจักรเย็บผ้าอีกแบบหนึ่ง ที่ใช้เก็บขอบผ้า ป้องกันการหลุดลุ่ยเมื่อใช้งาน หรือซัก ใช้ลาชายเสื้อ ขอบแขนเสื้อ เพื่อประกอบเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย จักรลานั้นมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับการใช้งาน เช่น จักรลา 3 เข็ม, จักรลา 4 เข็ม, จักรลากุ๊น, จักรลาดึงยาง, จักรลาทับ, จักรลาแถบ เป็นต้น
3. จักรโพ้ง หรือ จักรพ้ง
จักรโพ้ง หรือบางคนเรียกว่า จักรพ้ง เป็นจักรเย็บผ้าไฟฟ้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ต้องร้อยด้ายหลายเส้น เพื่อยึดผ้าให้ยืดหยุ่นตามการใช้งาน แต่ละเส้นด้ายให้ความยาวของฝีเข็มได้ตั้งแต่ 0.6 มิลลิเมตรขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการปรับของช่าง ใช้โพ้งริมผ้าเก็บชายให้เสื้อผ้าแข็งแรงต่อการใช้งาน จักรโพ้งแบ่งออกเป็น จักรโพ้ง 3 เข็ม, จักรโพ้ง 4 เข็ม, จักรโพ้ง 5 เข็ม
4. จักรติดกระดุม-จักรถักกระดุม
งานกระดุม เป็นงานเฉพาะที่ต้องใช้จักรเย็บผ้าไฟฟ้าประเภทจักรติดกระดุม ช่างเย็บผ้าต้องใส่กระดุมทีละเม็ด หรือเลือกเครื่องจักรเย็บผ้าไฟฟ้าที่ใส่กระดุมได้อัตโนมัติ เหมาะสำหรับเสื้อเชิ้ต เสื้อโปโล และเสื้อผ้าที่ประดับกระดุมจำนวนมาก ส่วนจักรอีกประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับงานกระดุม คือ จักรถักรังดุม ใช้ถักรังดุม พร้อมมีใบมีดเจาะรู ทุ่นแรงที่ช่างต้องมานั่งกรีดร่องติดกระดุมทีละตัว ลดความเสียหายจากความผิดพลาดเมื่อใช้ใบมีดกรีดอีกด้วย
5. จักรปัก
จักรปัก เป็นจักรเย็บผ้าสำหรับงานประเภทปักโลโก้ เพิ่มความสวยงามให้กับเสื้อผ้า หรือเป็นงานเย็บเสื้อผ้าประเภทเครื่องแบบบริษัทที่ต้องอาศัยการติดสัญลักษณ์โลโก้จำนวนมาก และงานปักชื่อนักเรียน ก็ยังคงได้รับความนิยมในปัจจุบัน
วิธีการใช้จักรเย็บผ้าเบื้องต้น
1. เลือกประเภทจักรเย็บผ้าให้เหมาะสมกับการใช้งาน
หากคุณต้องการใช้งานเย็บประเภทปะซ่อมทั่วไป ควรเลือกจักรเย็บผ้าขนาดเล็ก แต่หากต้องการเย็บเสื้อผ้า หรือเย็บหนัง ก็ควรเลือกจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมที่มีกำลังเพียงพอ และมีชิ้นส่วนที่แข็งแรง เพื่อช่วยทุ่นแรงและปลอดภัยกับผู้ใช้งาน
2. ตรวจสอบอุปกรณ์หัวจักรและตัวจักรให้พร้อมใช้งาน
ก่อนใช้งานทุกครั้งควรตรวจสอบว่าจักรเย็บผ้าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ หากเป็นจักรเย็บผ้าไฟฟ้า ก็ต้องดึงปลั๊กออกก่อนเช็กฝีเข็ม ตำแหน่งด้าย ควรทำความสะอาด ปัดฝุ่นออกจากชิ้นส่วนเล็กๆ ป้องกันด้ายพันกัน เช็กระดับน้ำมันจักร เพื่อป้องกันเครื่องจักรฝืดจากสนิม
...
3. เลือกตีนผีให้เหมาะสมกับประเภทของผ้า
ผ้าแต่ละประเภทใช้ตีนผีแตกต่างกัน ตีนผีคืออุปกรณ์ที่คอยดึงผ้าเข้ามาเย็บ หากเลือกผิดประเภทจะทำให้ด้ายขาด และฝีเข็มไม่สวยงาม เกิดอุปสรรคตลอดการใช้งาน และอาจเกิดอันตรายทำให้เข็มเย็บหักกระเด็น
4. ปรับฝีเข็มให้พร้อมกับการเย็บ
ฝีเข็มควรอยู่ในระดับที่พอดี เพราะเมื่อเครื่องจักรเย็บผ้าทำงานจะดึงเส้นด้ายและผ้าไปพร้อมๆ กัน หากปรับด้ายถี่เกินไปอาจทำให้เข็มหัก และด้ายขาดระหว่างเย็บได้
5. เตรียมด้ายให้เพียงพอกับการเย็บ
งานเย็บผ้าแต่ละประเภทต้องกะจำนวนเส้นด้ายให้เพียงพอต่อการใช้งาน จักรบางประเภทหากด้ายหมดจะเสียเวลาร้อยด้ายนาน และต้องมาเริ่มขั้นตอนปรับฝีเข็มใหม่ทั้งหมด ทำให้เสียเวลาเย็บ
จักรเย็บผ้ามีประโยชน์ในด้านทุ่นแรง และช่วยประกอบผืนผ้าจากชิ้นเล็กๆ ให้เป็นงานเย็บผืนใหญ่ได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งาน อย่างไรก็ดี จักรเย็บผ้าเป็นสินค้าที่มีราคาสูง หากต้องการใช้กับงานครัวเรือนก็ควรเลือกให้เหมาะกับการใช้งาน เพื่อความคุ้มค่าในการลงทุน.
...
เช็คราคาจักรเย็บผ้าก่อนช้อป ทุกครั้งได้ที่ >>> compare-price.thairath.co.th