สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้โลกตะลึง เมื่อนางเอกสาวลูกครึ่งอเมริกัน-แอฟริกัน “เมแกน มาร์เคิล” นำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ราชวงศ์อังกฤษ กลายเป็นสะใภ้วินด์เซอร์คนแรกที่ไม่ใช่คนผิวขาว แถมยังมีอดีตด่างพร้อยเคยผ่านการแต่งงานและหย่าร้างมาแล้ว
นอกจากพื้นเพความเป็นมาของ “เมแกน มาร์เคิล” ผู้ได้รับการสถาปนาพระยศเป็น “ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์” จะสร้างสีสันชวนติดตามราวกับละครหลังข่าว เบื้องหลังการเตรียมงานพิธีเสกสมรสประวัติศาสตร์ก็ยังเป็นที่กล่าวขวัญถึงในทุกแง่มุม โดยเฉพาะความเป็นมาของ “ชุดเจ้าสาวงามสง่าระบือโลก” ซึ่งดีไซเนอร์ม้ามืดอย่าง “แคลร์ เวต เคลเลอร์” เพิ่งมีโอกาสได้ออกมาเปิดเผยรายละเอียดทุกซอกทุกมุม หลังถูกสั่งให้ปิดเป็นความลับสุดยอดมา 4 เดือนเต็ม ห้ามแพร่งพรายแม้กระทั่งคนในครอบครัว
...
“ตอนที่ “เมแกน” บอกว่า ฉันได้รับเลือกให้ทำชุดเจ้าสาวสำหรับพิธีเสกสมรสอันยิ่งใหญ่ของเธอ กับ “เจ้าชายแฮร์รี” มันเป็นช่วงเวลาที่วิเศษจริงๆ มันเหลือเชื่อมากๆที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สำคัญขนาดนั้น เมื่อปลายปีที่แล้วฉันถูกเรียกตัวเข้าวังเคนซิงตัน และมีเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงในการนำเสนอไอเดียกับภาพสเกตช์ (เช่นเดียวกับดีไซเนอร์ดังๆอีกหลายคน) จากนั้นในการนัดเจอกันรอบสองช่วงเดือนมกราคม ว่าที่เจ้าสาวคนดังก็บอกข่าวดีว่าเธอเลือกฉันให้ทำชุดแต่งงาน แต่ขอให้ปิดเรื่องนี้เป็นความลับสุดยอด แม้แต่คนในครอบครัวก็ห้ามแพร่งพรายเด็ดขาด”...เคลเลอร์บอกเล่าถึงภารกิจสุดภูมิใจเป็นครั้งแรก ระหว่างให้สัมภาษณ์นิตยสารฮาร์เปอร์ส บาร์ซาร์
ก่อนหน้าความจริงจะปรากฏ มีชื่อดีไซเนอร์ดังๆเล็ดลอดออกมาเป็นระยะว่าจะได้ทำชุดเจ้าสาวบันลือโลก ไล่ตั้งแต่ ราลฟ์ แอนด์ รุสโซ, สเตลล่า แมคคาร์นีย์, เบอร์เบอร์รี่, เออร์เด็ม ไปจนถึงโรแลนด์ มูเร็ต แต่สุดท้ายดีไซเนอร์ที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ในวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษกลับเป็นม้ามืดที่ไม่เคยติดโผสำนักใดๆ เธอชื่อว่า “แคลร์ เวต เคลเลอร์”
“แคลร์ เวต เคลเลอร์” เก่งกล้าสามารถมาจากไหน มีผลงานอะไรโดดเด่นจึงได้รับความไว้วางใจ เธอเป็นดีไซเนอร์ชาวอังกฤษแท้ๆ ซึ่งเพิ่งสร้างตำนานเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รั้งตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของจีวองชี่ ห้องเสื้อเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 66 ปี “แคลร์” เกิดในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ร่ำเรียนจบปริญญาตรีด้านแฟชั่นดีไซน์จาก “ราเวนส์เบิร์น คอลเลจ ออฟ อาร์ต” ก่อนจะไปต่อปริญญาโทด้านแฟชั่นนิตแวร์ ที่ “รอยัล คอลเลจ ออฟ อาร์ต” จากนั้นก็ย้ายไปนิวยอร์กเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับห้องเสื้อดังๆ งานแรกที่ได้แสดงฝีมือคือเป็นดีไซเนอร์เสื้อผ้าผู้หญิงให้แบรนด์คาลวิน ไคลน์ ก่อนจะไปทำเสื้อผ้าผู้ชายให้ “เพอร์เพิล ลาเบล” ซึ่งอยู่ในเครือของราล์ฟ ลอเรน ด้วยฝีมืออันโดดเด่นหนุนส่งให้ “เคลเลอร์” ไต่เต้าขึ้นเป็นดีไซเนอร์อาวุโสของแบรนด์กุชชี่ ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับดีไซเนอร์มากพรสวรรค์อย่าง “ทอม ฟอร์ด” ก่อนจะกลับมาอังกฤษร่วมงานกับแบรนด์ “คริสโตเฟอร์ ไบลีย์” และก้าวขึ้นเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแบรนด์ “พริงเคิล ออฟ สกอตแลนด์” พลิกฟื้นแบรนด์ท้องถิ่นของชาวสกอตจนผงาดเป็นแบรนด์แฟชั่นระดับโลกเป็นผลสำเร็จ
...
ก้าวสำคัญอีกก้าวในอาชีพคือ การเข้าไปกุมบังเหียนแบรนด์เก่าแก่ของฝรั่งเศสอย่าง “โคลเอ้” เธอรั้งตำแหน่งนี้อยู่นานถึง 6 ปี และมีส่วนสำคัญในการปลุกชีพโคลเอ้ให้กลับมาฮิตฮอตอีกครั้ง สร้างยอดขายปีละ 400 ล้านยูโร กระนั้นชื่อของ “เคลเลอร์” ขึ้นถึงจุดพีกสุด เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นอาร์ทิสติก ไดเรกเตอร์ผู้หญิงคนแรกของห้องเสื้ออายุเก่าแก่กว่า 66 ปี อย่าง “จีวองชี่” ซึ่ง “เคลเลอร์” ก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลย เพราะได้รับเสียงชื่นชมกึกก้องจากการสร้างสรรค์แฟชั่นโชว์โอต์กูตูร์คอลเลกชันแรก หลังหมดยุคของ “ริคคาร์โด้ ทิสซี่” ที่กุมแบรนด์จีวองชี่มายาวนานกว่า 12 ปี
...
สำหรับชุดแต่งงานประวัติศาสตร์ที่สร้างสรรค์ออกมาได้งดงามตราตรึงใจเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วโลก และเป็นเครดิตสำคัญในชีวิตการทำงาน “เคลเลอร์” ขอยกความดีความชอบให้เจ้าสาวเต็มๆ โดยบอกเล่าว่า เมแกนเป็นแฟนพันธุ์แท้ของแบรนด์จีวองชี่มานาน ขณะเดียวกันก็รู้จักสไตล์การทำงานของฉันดีอยู่แล้ว และเลือกฉันเพราะฉันเป็นคนอังกฤษแท้ๆที่ทำงานอยู่ในห้องเสื้อระดับตำนานโลกอย่างจีวองชี่ เธอเป็นคนชัดเจน และรู้ดีว่าอยากได้ชุดเจ้าสาวแบบไหน สิ่งที่เธอมองหาอยู่คือชุดเจ้าสาวที่มีความโก้หรู โมเดิร์น เหมาะกับกาลเทศะ และคลาสสิกเหนือกาลเวลา เราใช้เวลาหลายอาทิตย์กว่าจะได้
แบบสเกตช์ที่ถูกใจ กระทั่งกลางเดือนกุมภาพันธ์ “เมแกน” มาหาฉันที่บ้านในย่านเซาท์เวสต์ลอนดอน เพื่อวัดไซส์ ลงรายละเอียดเรื่องผ้า และวัตถุดิบที่ใช้ตกแต่งชุด จากนั้นทีมงานลับสุดยอดก็เริ่มลงมือทำงานกันอย่างเงียบเชียบที่สุด โดยโจทย์แรกที่ต้องแก้คือ ว่าที่เจ้าสาวอยากได้ผ้าไหมที่มีสีขาวบริสุทธิ์จริงๆมาตัดชุดแต่งงาน ก็ต้องควานหาจากทั่วทุกมุมโลก และอีกโจทย์ใหญ่ที่ต้องขบให้แตกคือ ทำอย่างไรจึงจะสื่อความเป็นเครือจักรภพอังกฤษลงไปในชุดเจ้าสาว ไอเดียนี้ถูกนำเสนอโดย “เคลเลอร์” และเป็นที่ถูกใจ “เมแกน” มาก โดยดีไซเนอร์มากพรสวรรค์เสนอให้ปักลวดลายดอกไม้ ที่เป็นสัญลักษณ์ของ 53 ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ลงบนผ้าคลุมศีรษะเจ้าสาว ที่ออกแบบให้มีความยาว 5 เมตร นอกจากจะแสดงถึงความโรแมนติกลึกซึ้งของเจ้าสาวแล้ว ผ้าคลุมศีรษะดังกล่าวยังเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนที่พร้อมทำหน้าที่รับใช้สมาชิกเครือจักรภพอังกฤษทั้ง 53 ประเทศ
...
นอกจากดอกไม้ทั้ง 53 ชนิด ยังมีดอกไม้พิเศษอีก 2 ชนิดที่ปักลงบนผ้าคลุมศีรษะเจ้าสาว นั่นคือ “ดอกวินเทอร์สวีต” ซึ่งสะพรั่งอยู่หน้าพระตำหนักนอตติ้งแฮม คอทเทจ เรือนหอแสนหวานที่เจ้าชายแฮร์รีคุกเข่าขอแต่งงาน และ “ดอกแคลิฟอร์เนีย ป๊อปปี้” สัญลักษณ์บ้านเกิดของนางเอกสาวผู้โชคดี อย่างไรก็ดี เพราะเจอโจทย์มหาหินขนาดนี้ ผ้าคลุมศีรษะเจ้าสาวในตำนานจึงต้องใช้เวลาทอ, ตัดเย็บ และปักลวดลายยาวนานมากกว่า 500 ชั่วโมง ยังมีการถกเถียงกันเรื่องความถูกต้องของดอกไม้แต่ละดอกที่เลือกใช้เป็นสัญลักษณ์ของแต่ละประเทศ และระดับความยาวของผ้าคลุมศีรษะ โดยสุดท้ายมาลงตัวที่ความยาวระดับปานกลาง 5 เมตร
กว่าชุดเจ้าสาวจะเสร็จสมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่างจริงก็ปาเข้าไปเดือนเมษายน โดยมีการฟิตติ้งเพื่อแก้ไขชุด 3 ครั้ง ก่อนจะส่งชุดเจ้าสาวไปรอเจ้าหญิงองค์ใหม่ให้สวมใส่เข้าพิธีเสกสมรสที่พระราชวังวินด์เซอร์
กระนั้น ไม่ว่าชุดเจ้าสาวจะวิจิตรขนาดไหน ถ้าไม่ผ่านความเห็นชอบจากควีนอังกฤษ งานนี้ก็ถือว่าสอบตก!! “เมแกน” ฉลาดพูดถึงเรื่องนี้ว่า การสวมใส่ชุดเจ้าสาวให้ควีนเอลิซาเบธที่สองทอดพระเนตรก่อนงานเสกสมรสจริง มิใช่เพื่อขอพระบรมราชานุญาต แต่เป็นการแบ่งปันช่วงเวลาสำคัญที่สุดในชีวิตของเราร่วมกับพระองค์ ซึ่งหากทรงมีข้อติติงใดๆก็พร้อมน้อมรับมาแก้ไขทันที การซ้อมใหญ่เสมือนจริงก็เป็นอีกหนึ่งโมเมนต์น่าประทับใจ โดยเฉพาะเด็กชายทั้งสองที่รับหน้าที่จับชายผ้าคลุมศีรษะเพื่อเปิดตัวเจ้าสาวอย่างสง่างามที่สุด
สไตล์การแต่งหน้าทำผมก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ “เมแกน” ได้รับเสียงชื่นชมว่าดูงดงามหมดจดทุกกระเบียดนิ้ว โดยเจ้าสาวต้องตื่นมาแต่งหน้าทำผมตั้งแต่ 6 โมงเช้า และใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงครึ่งกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ด้วยฝีมือ เนรมิตรของเมกอัพอาร์ทิสต์โลก “แดเนียล มาร์ติน” จับคู่ช่างผมมือทอง “เซอร์เก้ นอร์แมนต์”
และความเป็นเจ้าหญิงจะเปล่งประกายออกมาไม่ได้ ถ้าขาดองค์ประกอบสำคัญอย่าง มงกุฎเพชร “Diamond Bandeau Tiara” ของสมเด็จพระราชินีแมรี่ ซึ่งควีนเอลิซาเบธที่สองทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หลานสะใภ้ได้ยืมใช้ โดยเทียร่าดังกล่าวจัดทำขึ้นในปี 1932 เพื่อถวายเป็นของขวัญแด่เจ้าหญิงแมรี่ เนื่องในโอกาสเสกสมรสกับเจ้าชายจอร์จ ดยุกแห่งยอร์ก ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระอัยกาของควีนองค์ปัจจุบัน นอกจากนี้ เจ้าสาวคนสวยยังสวมต่างหูและสร้อยข้อมือเพชรของคาร์เทียร์ ที่ตั้งใจออกแบบขึ้นเฉพาะ สำหรับชุดของ “เจ้าชายแฮร์รี” เป็นเครื่องแบบจากหน่วย Blues and Royals ซึ่งสั่งตัดเย็บพิเศษจากห้องเสื้อเก่าแก่ Dege & Skinner ในย่านซาวิลโรว์ของกรุงลอนดอน
แค่เริ่มต้นก็ชนะใจประชาชนล้นหลาม ดูเหมือนว่า “ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์” จะมีคู่แข่งที่น่าเกรงขามซะแล้ว!!
ทีมข่าวหน้าสตรี