“ท้าวอัมรินทราธิราช” เป็นหนึ่งในเทว ราชตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์–ฮินดู และถือว่าเป็นเทพเจ้าที่สำคัญในศาสนาพุทธเช่นกัน โดยท้าวอัมรินทราธิราชถือเป็นเทวดาผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
อาจกล่าวได้ว่าเป็น “จอมเทพแห่งสวรรค์” ผู้ปกครองเหล่าเทวดาในระดับนี้ ซึ่งเป็นชั้นสวรรค์ ชั้นที่สองในไตรภูมิ โดยมีพลังและอำนาจปกป้องผู้มีศีลธรรมและความดี
ความเชื่อเกี่ยวกับท้าวอัมรินทราธิราช ได้แก่ เทพผู้ปกป้องความยุติธรรมและธรรมะ
“ท้าวอัมรินทราธิราชได้รับการนับถือว่าเป็นผู้พิทักษ์แห่งธรรมหรือความดีงาม ซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองผู้ที่มีศีลธรรมและปกป้องโลกจากสิ่งชั่วร้าย ผู้ที่ศรัทธามักจะขอพรเกี่ยวกับการปกป้องตนเองและความยุติธรรม เช่น ขอให้ได้รับการปกป้องจากภัยอันตรายต่างๆ หรือให้เอาชนะอุปสรรคในการดำเนินชีวิต”
พระองค์ผู้ให้ “พลัง” และ “อำนาจ”...บางคนเชื่อว่าการสักการบูชาท้าวอัมรินทราธิราชจะเสริมพลังในด้านอำนาจและการบริหารจัดการ ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำหรือต้องการอำนาจในการตัดสินใจหรือดูแลคนมักจะขอพรจากท้าวอัมรินทราธิราช...ขอความสำเร็จในหน้าที่การงาน ความรัก ปกป้องจากอุปสรรคปัญหา ปกป้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา
ในความเชื่อของพุทธศาสนา ท้าวอัมรินทราธิราชมีบทบาทในการปกป้องพระพุทธ ศาสนาและสนับสนุนการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า คนไทยเชื่อว่า “ท้าวอัมรินทราธิราช” จะช่วยคุ้มครองผู้ที่ศรัทธาและปฏิบัติตามศีลธรรมของพุทธศาสนา
เทพเจ้าแห่งสายฟ้าและพลังแห่งธรรมชาติ
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า...ท้าวอัมรินทราธิราชมีอาวุธประจำตัวคือ “วัชระ (สายฟ้า)” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพลังธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ผู้ศรัทธามักมองว่าท้าวอัมรินทราธิราชเป็นเทพผู้ควบคุมพลังธรรมชาติ รวมถึงพายุและฟ้าผ่า
...
ว่ากันถึง...การบูชาและศรัทธาต่อท้าวอัมรินทราธิราชในประเทศไทย หลายคนบูชาท้าวอัมรินทราธิราชตามวัดและศาลเจ้า โดยเฉพาะวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูหรือศาสนาพุทธ
การบูชาอาจประกอบด้วยการถวายดอกไม้, ธูป, เทียน และเครื่องบูชาอื่นๆตามแบบไทย อีกทั้งยังมีการสวดมนต์และการอธิษฐานขอพรในโอกาสพิเศษ
ตั้งนะโม 3 จบ... โอม สักกายะ สักกาเรนะ สะทา สัพพะทา ปูเชมิ ท้าวสักกะเทวะราชัง มะหาราชัง สัพพะปาณีนัง ปูเชมิ สัพพะสักกาเรนะ สัพพะทา ปูชิตัง สะทา สัมมะ ปะฏิปัตติยา นานา ปูชา ปาฏิหาริยัง ปิยะ เทวะ ปิโยเทวะ หิตายะ สุขายะ สะทาโสตถี ภะวันตุเม
คำแปลโดยย่อ...“ขอถวายการบูชาท้าวสักกะเทวราชมหาราช ผู้เป็นที่รักแห่งเทวดา ขอให้ท่านโปรดคุ้มครองและปกป้องด้วยการกระทำที่ถูกต้องตามธรรม เสริมสร้างความสุขและความสงบให้เกิดแก่ข้าพเจ้า” คาถาบูชาท้าวอัมรินทราธิราชข้างต้นนี้... เป็นบทสวดที่นิยมใช้ในการสักการะท้าวอัมรินทราธิราช เพื่อขอความคุ้มครอง, เสริมสร้างบารมี และขอพรให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง โดยคาถานี้มีความหมายเป็นการบูชาท้าวอัมรินทราธิราชและขอให้ท่านโปรดปกป้องคุ้มครองผู้สวด
เคล็ดลับในการสวดบูชา...ตั้งจิตให้สงบก่อนสวด หากเป็นไปได้ควรสวดในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือหน้าพระพุทธรูปหรือภาพของท้าวอัมรินทราธิราช ใช้ธูป 9 ดอก ดอกไม้สด เช่น ดอกดาวเรือง ดอกมะลิในการบูชา
ถนนเพลินจิตในกรุงเทพฯ เป็นย่านที่เต็มไปด้วยแสงสีของเมืองที่ไม่เคยหลับใหล แต่หากลองสังเกตให้ดี จะพบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางความเร่งรีบ เป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญของผู้แสวงหาความศรัทธาและความสงบในใจ นั่นก็คือ “เทวาลัยท้าวอัมรินทราธิราช” หน้าศูนย์การค้าเกษรอัมรินทร์ ถนนเพลินจิต
ท่ามกลางความทันสมัยย่านใจกลางเมือง เทวาลัยท้าวอัมรินทราธิราชยังคงมีบทบาทสำคัญในการให้ผู้คนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติได้เข้ามากราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรือง
“ท้าวอัมรินทราธิราช”...เทพผู้ทรงพลังแห่งสวรรค์
อย่างที่รู้กันไปแล้วว่าเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่และทรงพลังที่สุดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผู้คนไม่น้อยเชื่อว่าท้าวอัมรินทราธิราชมีบทบาทสำคัญในการปกป้องผู้ที่มีศีลธรรมและความดี
ช่วยให้รอดพ้นจากภัยอันตรายและช่วยส่งเสริมความสำเร็จในชีวิต
...
นอกจากนี้ท่านยังเป็นสัญลักษณ์ของพลังแห่งธรรมชาติ ความยุติธรรมที่แข็งแกร่งจึงไม่แปลกที่ท้าวอัมรินทราธิราชจะเป็นที่พึ่งพิงทางใจของผู้คนในสังคมเมืองที่เผชิญกับปัญหา... ความท้าทายมากมาย
ตั้งนะโม 3 จบ “โอม สักกะเทวะตา วันทานัง สุขิตา มหาลาโภ ทุติยัมปิ สักกะ เทวะตา วันทานัง สุขิตา มหาลาโภ ตะติยัมปิ สักกะเทวะตา วันทานัง สุขิตา มหาลาโภ”
พระคาถาบูชาองค์ท่านท้าวอัมรินทราธิราช
การเคารพบูชาท้าวอัมรินทราธิราชที่เทวาลัยแห่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาที่ไม่เคยจางหาย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ ผู้คนยังคงหันกลับมาหาเทพผู้คุ้มครองเพื่อความสงบสุขในจิตใจและความสำเร็จในชีวิต เป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันอย่างมีความหวัง
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.
รัก-ยม
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม
...