ศรัทธาความเชื่อสะท้อนชัดเจนตอกย้ำ “ไม้ค้ำโพธิ์” หรือ “ไม้ค้ำสะหลี” เปรียบเสมือนเป็นวัตถุมงคลในประเพณีความเชื่อของชาวล้านนาและชาวไทยในบางพื้นที่โดย เฉพาะในภาคเหนือ...เกี่ยวเนื่อง กับการส่งเสริมความมั่นคง การเสริมสร้างบุญบารมี

ผ่าน...ความหมายและความเชื่อที่สำคัญคือ หนึ่ง...เสริมความมั่นคงและความแข็งแรง

“ชาวบ้านเชื่อว่าการนำไม้ค้ำไปค้ำต้นโพธิ์หรือสะหลีเป็นการสื่อถึงการสนับสนุนและเสริมความแข็งแรงให้กับต้นโพธิ์ ซึ่งเปรียบเสมือนการเสริมสร้างชีวิตของตนเองให้มั่นคง อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความเคารพและความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ”

สอง...เสริมสร้างบุญบารมีและอำนาจบุญกุศล

“การถวายไม้ค้ำโพธิ์ถือเป็นการสร้างบุญใหญ่ เปรียบเสมือนการสนับสนุนพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ผู้ที่ทำพิธีไม้ค้ำโพธิ์มักเชื่อว่า การถวายนี้จะช่วยเสริมสร้างบุญบารมี ทำให้ชีวิตราบรื่น มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และมีความสุขสวัสดี”

สาม...การหนุนดวงชะตา มีความเชื่อว่า การนำไม้ไปค้ำสะหลีในวันสำคัญทางพุทธศาสนาหรือในช่วงสงกรานต์ จะช่วยส่งเสริมดวงชะตา ขจัดอุปสรรค และเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัว ถือเป็นการป้องกันภัยและทำให้มีโชคลาภเข้ามา

...

สี่...สัญลักษณ์ของความเมตตาและการดูแลการค้ำต้นโพธิ์หรือสะหลี สะท้อนถึงการดูแลผู้อื่นและการมอบความเมตตา เป็นการเชื่อมโยง ระหว่างการเคารพธรรมชาติและการให้ความรักต่อสิ่งมีชีวิต จึงถือเป็นการทำบุญแบบหนึ่งที่สื่อถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ห้า...ช่วยขอพรและคำอธิษฐาน บางครั้งผู้คนจะขอพร หรืออธิษฐานเมื่อถวายไม้ค้ำสะหลี หวังว่าผลบุญนี้จะช่วยให้สิ่งที่อธิษฐานสมหวัง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ การงาน หรือความเจริญในชีวิต

“ไม้ค้ำโพธิ์” หรือ “ไม้ค้ำสะหลี” เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สะท้อนถึงความผูกพันระหว่างคนกับธรรมชาติและศาสนา

การทำบุญด้วยไม้ค้ำสะหลียังสะท้อนถึงการอนุรักษ์ศิลปะและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การแกะสลักไม้และการใช้วัสดุจากธรรมชาติ

“ไม้ค้ำโพธิ์” หรือ “ไม้ค้ำสะหลี” คำว่า “สะหลี” หมายถึง ต้นโพธิ์...ถือเป็นประเพณีอันทรงคุณค่าแห่งล้านนา ด้วยชาวพุทธมี ความเชื่อศรัทธากันว่า หากถวายไม้ค้ำโพธิ์จะเป็นการช่วยค้ำชูพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

ความเชื่อที่ว่านี้ถือปฏิบัติกันเนิ่นนานมาแล้ว เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ทำกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของชาวล้านนาที่เรียกกันว่า “แห่ไม้ค้ำโพธิ์” อีกทั้งความเชื่อที่บอกเล่าสืบต่อกันมาก็คล้ายๆกับในหลายๆพื้นที่ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ที่มีเทวดาอารักษ์สถิตรักษา ยิ่งด้วยเป็น “ต้นโพธิ์” แล้วล่ะก็ไม่ต้องพูดถึง ยิ่งมีขนาดใหญ่โตแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงากว้างใหญ่ไพศาลร่มรื่นให้รู้สึกอุ่นเย็นหัวใจแล้ว

เชื่อได้อย่างแน่วแน่เลยว่ามีสิ่งเหนือธรรมชาติคุ้มครองอยู่ด้วย โดยเฉพาะ “ต้นโพธิ์” ที่ปลูกในวัด

ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ มักจะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทย ซึ่งตรงกับเดือนเมษายนของทุกปี ประเพณีนี้ได้รับความนิยมมากในภาคเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแพร่ โดยมีการทำบุญร่วมกัน...แห่ไม้ค้ำไปยังวัด เพื่อถวายใต้ต้นโพธิ์ในวันสำคัญนี้

ช่วงสงกรานต์ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้คนมักทำบุญเพื่อเสริมสิริมงคลและขอพรให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ในช่วงสงกรานต์จึงสอดคล้องกับคติความเชื่อเรื่องการเริ่มต้นใหม่และการสั่งสมบุญในวันปีใหม่

...

“ประเพณีสงกรานต์” เฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ ...เป็นวันแห่งความเอื้ออาทร ความรัก ความผูกพันที่มีต่อกันทั้งครอบครัว ชุมชน สังคม ศาสนา...ความเชื่อดั้งเดิมการใช้ “น้ำ” เป็นตัวแทนเสมอ เหมือนแก้ความร้อนช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ ราศีเมษ ใช้รดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื้น

ขอพรบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้...สร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน ร่วมกันทำบุญให้ทาน ก่อพระเจดีย์ทราย...ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พร้อมๆไปกับการเล่นสาดน้ำเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงร่วมกัน

สำหรับการปฏิบัติในพิธีถวายไม้ค้ำโพธิ์นั้น มีขั้นตอนธรรมเนียมที่เป็นเอกลักษณ์เริ่มจาก... การจัดเตรียมไม้ค้ำ ซึ่งจะต้องเป็นไม้ที่หาได้ในท้องถิ่น นำมาแกะสลักหรือประดับลวดลายสวยงาม มีการเขียนชื่อผู้ถวายไว้บนไม้ค้ำ และมักจะตกแต่งด้วยผ้าสีหรือดอกไม้

...

ถัดมาพิธีบูชาก่อนค้ำ...ก่อนนำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์ มักมีการกราบไหว้ และกล่าวคำบูชาเพื่อขอพรและความเป็นสิริมงคล สุดท้าย... อธิษฐานจิต ขณะทำการค้ำต้นโพธิ์ ผู้ถวายมัก อธิษฐานจิต ขอให้ได้รับความคุ้มครอง และความเจริญรุ่งเรืองจากการทำบุญนี้

ค้ำชูมั่นคง มากบุญบารมี...เสริมอำนาจบุญกุศล

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.


รัก-ยม

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม