ในอดีตแต่โบราณชาวพุทธทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัยส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาจากอำเภอเถิน ซึ่งเป็นชาวล้านนา มีความเชื่อเรื่องพลังไสยศาสตร์ผสมกับความศักดิ์สิทธิ์ของพระรัตนตรัย ซึ่งถ่ายทอดมาจากยุคที่ศาสนาพราหมณ์เริ่มลดบทบาทลงและพระพุทธศาสนาเข้ามาแทน

แต่...ชาวทุ่งเสลี่ยมก็ยังรักษาความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถาเอาไว้ จากการรวบรวมปั๊บสา (สมุดข่อยโบราณบันทึกล้านนา) ใน 5 ตำบลของอำเภอทุ่งเสลี่ยม พบว่า “เวทมนตร์คาถา” ที่ปรากฏอยู่ คือ...คาถาเมตตามหานิยม-ปิยะมหาเสน่ห์ คาถาโชคลาภ คาถาแคล้วคลาด คาถาไสยดำ คาถาอยู่ยงคงกระพัน (ข่าม)

ส่วนด้านคติธรรมที่พบจำแนกได้ 6 ประเด็น คือในคาถาเมตตามหานิยมได้พบพุทธคุณ ข้อเมตตาต่อสัตว์โลก ในคาถาทางโชคลาภได้พบหลักมงคลชีวิต ข้อบูชาสิ่งที่ควรบูชาที่พระพุทธองค์ตรัสสอน ในคาถาแคล้วคลาดได้พบความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ในคาถาอยู่ยงคงกระพัน (ข่าม) ได้พบการต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิตอย่างมีสติ ในคาถา
ไสยดำได้ค้นพบจิตฝ่ายอกุศลที่เกิดจากโลภะ โทสะ โมหะ และคุณค่าด้านจิตใจ ใช้คาถาเป็นสื่อให้คนเข้าหาธรรม ที่สะท้อนคติชีวิตสังคมแบบล้านนาของชาว อำเภอทุ่งเสลี่ยมได้อย่างลงตัว

...

ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านี้ “คาถา”...เป็นเวทมนตร์ จักคอยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไป และยังมีความเคารพต่อเสื้อบ้าน เสื้อเมือง ซึ่งก็คือ “วิญญาณของบรรพบุรุษ” หรือ “วีรบุรุษ” ที่เชื่อว่า...ยังคงอยู่และคอยคุ้มครองให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหลาน

หลวงวิจิตรวาทการ เขียนไว้ตอนหนึ่งในหนังสือมหัศจรรย์ทางจิต “เราเชื่อกันว่า ผู้ไร้การศึกษาหรือคนป่าเถื่อน เชื่อเรื่องมนต์คาถา ข้าพเจ้าเองก็เคยคิดเช่นนั้น”

แต่ก็มีเรื่องประจักษ์แก่ตาอาจารย์ข้าพเจ้า สมเด็จพระวันรัต เขมจารีเถระ วัดมหาธาตุ เปรียญ 9 ประโยค ผู้จัดการศึกษา ทำให้สำนักวัดมหาธาตุเป็นสำนักปริยัติธรรมที่ยิ่งใหญ่ นอกจากท่านไม่เชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถาแล้ว ยังเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรง ต่อมา...เมื่อมีการสังคายนาพระไตรปิฎก พระอภิธรรมเป็นภาคใหญ่มีความยากและสำคัญกว่าภาคอื่น สมเด็จอาจารย์รับหน้าที่ชำระภาคนี้ทั้งภาคแต่ผู้เดียว

หลังการชำระเคยได้ยินท่านพูดว่า “เห็นจะเข้าใจผิด” ต่อมาท่านก็ยอมประพรมน้ำมนต์ และอีกไม่นาน “ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งที่ได้รับการรดน้ำมนต์และเสกเป่า”

แสดงว่าเมื่อได้ตรวจพระไตรปิฎกตอนสำคัญและลึกซึ้ง ความเชื่อของท่านได้เปลี่ยนไป ในปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มพระสมเด็จ “ตรียัมปวาย” อธิบายส่วนผสมการสร้างพระสมเด็จฯ ไว้ว่า สมเด็จท่านใช้ผงจากแท่งดินสอ...หลับตานึกถึงการเขียนคาถาแต่ละตัว เริ่มตั้งจิต เขียนพินทุ (จุด) แล้วร่ายคาถาแต่ละช่วงชั้นตัวอักษรไปจนจบที่นิพพานคือศูนย์...เขียนเป็นตัวแต่ละตัวจนจบคาถาแล้วก็ลบ แล้วก็เริ่มเขียนใหม่จากผงปถมังไปถึงผงอิธะเจ มหาราช พุทธคุณ และผงตรีนิสิงเห เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนเป็นผงมากถึงห้าบาตร

กว่าจะเขียนจบห้าคัมภีร์ กว่าจะรวบรวมผงได้ถึงห้าบาตร ลองคิดว่าสมเด็จท่านใช้ความเพียรพยายามและเวลายาวนานสักเพียงใด

อย่างที่ รองศาสตราจารย์ สุกัญญา สุจฉายา เขียนไว้ในคำนำ หนังสือเลขยันต์ แผนผังอันศักดิ์สิทธิ์ว่า ผงเหล่านี้คือแหล่งพลังจิตที่มีแรงสั่นสะเทือนออกไป พลังจิตนี้นักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์เพิ่งค้นพบว่า สามารถรวมแรงธรรมชาติ แรงดึงดูด แรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงนิวเคลียร์ เข้าไว้ได้เป็นหนึ่งเดียว

หลักความเชื่อนี้ เป็นที่มาของพระเครื่องของขลัง...พระสมเด็จวัดระฆังองค์เดียว คือวัสดุที่รวมหลอมจากคลื่นพลังจิตยิ่งใหญ่ สร้างปาฏิหาริย์ช่วยผู้คนไว้ไม่น้อยเลย

...

มีคาถาบทหนึ่ง...ชื่อคาถากาสลัก...สมเด็จพระสังฆราช วชิรญาณวงศ์ วัดบวรฯ ท่านสอนให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิษย์เอก ท่องคำย่อสี่คำ จะ ภะ กะ สะ เอาไว้ สมเด็จท่านว่าเป็นคาถาขลัง ได้มาจากหลวงตาบ้านนอก หมั่นท่องเอาไว้จะมีอานุภาพตามที่ศิษย์อยากได้ คือแคล้วคลาด คงกระพัน ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า ฯลฯ...อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ท่องเป็นนาน ต่อมาท่านก็รู้ว่าคาถาบทนี้ คือ “หัวใจพระสูตร”...ย่อมาจากทีฆนิกาย จ ย่อมาจาก จช ทุชชนสังสัคคัง แปลว่าจงสละเสียซึ่งการสังคมด้วย ทุรชน ภ ย่อมาจาก ภช บัณฑิตา เสวนัง แปลว่า จงคบหาแต่บัณฑิต ก ย่อมาจาก กระ บุญญมโหรตตัง แปลว่า จงกระทำบุญทั้งกลางวันและกลางคืน และ ส ย่อมาจาก สรนิจมนิจจตัง แปลว่า จงระลึกถึงความไม่เที่ยงอยู่เป็นนิจ

อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ขอคาถากาสลักจากสมเด็จอาจารย์มาท่องก่อน พ.ศ.2500 ไม่กี่ปี ท่านก็คงท่องเรื่อยมาจนเมื่อถึงปี 2518 คาถาก็ออกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคมมี สส.ในพรรคแค่ 18 เสียงก็แสดงปาฏิหาริย์เป็นนายกรัฐมนตรี หมั่นท่องคาถา หมั่นปฏิบัติ...ใคร ไม่ก็ใครที่ศรัทธา คงจะได้เป็นนายกฯเข้าสักคน เรื่องราวนี้ “กิเลน ประลองเชิง” เขียนไว้ในคอลัมน์ “ชักธงรบ” นสพ.ไทยรัฐ ช่วงกลางปี 2561 ในหัวเรื่องว่า “คาถานายก”

...

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวไว้ว่า พระพุทธศาสนามองว่า “ไสยศาสตร์” หรือ “เวทมนตร์คาถา” เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยคติความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ สิ่งเร้นลับ หรืออำนาจเหนือธรรมชาติที่มีลักษณะเป็นการหวังพึ่งอำนาจภายนอก หรือการดลบันดาลจากอำนาจภายนอก มีต้นกำเนิดมาจากบทสวดในคัมภีร์พระเวท และยังพบอีกว่าไสยศาสตร์ยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจพิสูจน์ได้แน่นอนว่ามีผลจริงหรือไม่...การหวังพึ่งไสยศาสตร์นั้นก็มีข้อจำกัดอยู่มากและที่สำคัญคือไม่อาจนำไปสู่การพ้นทุกข์ได้ เพราะที่สุดของไสยศาสตร์อาจแสดงฤทธิ์ต่างๆได้ก็เป็นเพียงขั้นโลกิยะ อภิญญา...ยังเกี่ยวข้องอยู่กับโลก อยู่ในวิสัยของปุถุชน

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.


รัก-ยม

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม