"ศรัทธา" นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์”...ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว...“จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย...ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์...จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค...ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ” จงรักษาใจ...ให้เหมือน “นาฬิกา”

เพราะหน้าที่ของนาฬิกาคือ...การอยู่กับปัจจุบันขณะ ด้วยสัจจะและความเที่ยงตรง

ปากอย่าไว...ใจอย่าเบา เรื่องเก่าอย่าไป รื้อฟื้น เรื่องอื่นอย่าไปคิด ทำกิจที่ชอบในปัจจุบัน... ให้รีบทำ คำสอนที่อ้างถึงข้างต้นทั้งหมดเหล่านี้ เป็นของ “หลวงปู่ดูลย์ อตุโล”

ในอดีต “วัด” กับ “ชุมชน” เรื่องการบริหารจัดการจะไม่แยกจากกันจะคลุกคลีกัน เด็กวัดจะหิ้วปิ่นโตตามพระไปบิณฑบาต วัด ชุมชน โรงเรียนมีความสามัคคีกัน เดิมวัดจะมีกิจกรรมประจำเดือน ประจำปี เพื่อให้ผ่อนคลายกัน ฉะนั้นไปไหนไม่ได้เลยชาวบ้านก็ต้องอยู่กับวัด

“วัดเป็นสถานที่ของการศึกษา เมื่อก่อนเด็กเยอะ มีงบมาจากรัฐบาลน้อย ชุมชนจึงต้องอาศัยวัด ครูก็น้อยต้องใช้พระเป็นครูด้วย วัดยังเป็นสถานที่สนุกสนานของเด็ก แม้แต่อาหารการกินผลไม้ก็เยอะแยะ วัดเป็นหัวใจสำคัญของเด็กรุ่นฉันเพราะได้ความรู้เยอะแยะ”

...

สมัยก่อนที่ “พระ” สำคัญกับ “ชุมชน” เพราะพระทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน เจ้าอาวาสเป็นหัวใจหลัก แล้วพระรองๆ ลงมาจะมีความรู้แตกต่างกัน และความรู้ของพระก็เป็นความรู้ที่ได้มาจากที่เดิม คือความรู้จากชุมชน อย่างฉันรุ่นปู่เป็นแพทย์ประจำตำบลเพราะคนโบราณมีการสืบทอดความรู้ตามสายตระกูล ตอนนี้ฉันก็เป็นแพทย์สมุนไพรก็รับเอาวิชาของปู่มา ฉันเป็นหมอฉันจะไปเผยแพร่วิชาก็จะไปทั่ว ถ้าลูกศิษย์เก่งแล้วก็จะย้ายไปเรื่อย ถ้าลูกศิษย์ยังไม่เก่งตรวจโรคไม่ได้ยังไงฉันก็ต้องอยู่ แม่ฮ่องสอนฉันก็มีลูกศิษย์ เชียงใหม่ก็มีลูกศิษย์

ชาวบ้านอยากแสวงหาความรู้ก็มาแสวงหากับพระ เช่น อยากจักสานก็ไปหาพระองค์นี้ อยากทำกระบุงเป็นไปหาพระองค์นี้ อยากสานเสื่อไปหาพระองค์นี้ เราอยากเรียนอะไรก็ไปหาพระท่านก็จะสอนให้

และพระจะมีความรู้ใหม่ๆเยอะแยะ เพราะนอกจากความรู้จากวิถีชาวบ้านแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็ได้รับการศึกษาทางตรงมาจากกรุงเทพฯ เช่น การเรียนทางไปรษณีย์

รุ่นร้อยกว่าปีที่แล้วเขาก็เรียนทางไปรษณีย์ หนังสือก็ส่งมาจากเรือ ไปรษณีย์ก็ไปรับ ถึงเวลาก็ขึ้นเรือไปสอบกันที่สนามเสาชิงช้า วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ รุ่นทวดฉันถ้ายังอยู่ก็มี อายุร้อยกว่าปี ท่านก็เรียนทางเรือเหมือนกัน ส่งหนังสือมาเป็นผูกๆก็เอาตำรามาอ่านกันที่วัด

“อาจารย์ก็จะเขียนใบลานมาให้ มีทั้งสมุดข่อยและใบลาน สมัยก่อนไม่มีหนังสือธรรมะหรอก”

โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง เสาชิงช้า ไปคุ้นกับพระ พระก็บอกให้ทำหนังสือไปให้คนจน เลี่ยงเชียงก็ให้พระเขียนธรรมะให้ก็มาทำเป็นผูกๆ แล้วก็พิมพ์ขาย เลี่ยงเชียงจะเกิดก่อนทั้งหมดแถวเสาชิงช้า คนโบราณเมื่อปู่ย่าตาทวดตายจะมีสมุดพวกนี้เยอะ ก็ต้องมาถวายให้กับวัดเพราะรุ่นหลังก็ไม่ได้ใช้สมุดพวกนี้แล้ว วัดก็เก็บสะสมไว้

คนโบราณตามบ้านก็เรียนกันเองด้วยสมุดข่อยแบบนี้ รุ่นนั้นก็ใช้ไต้เป็นแสงสว่าง

“สมัยอยู่ปอหนึ่ง ฉันคนจนก็ใช้กระดาน ชนวน เขาจะมีดินสอดำๆให้แท่งนึงเป็นดินสอหิน แล้วมีผ้าขี้ริ้วอีกอันผูกไว้ที่กระดาน ถ้าสมัยตาฉันเรียนที่วัดก็ใช้ดินหม้อกับน้ำข้าวผสมกันให้ดีแล้วเอากระดานมาแผ่นนึง เป็นกระดานไม้ใหญ่ๆ มาทาตากแดดให้แห้ง ถึงเวลาเรียนก็ขีดบนกระดานก็เป็นตัวหนังสือได้ รุ่นแม่ก็ใช้ใบตองต้องพกไปหลายแผ่นก็เขียนหนังสือได้ รุ่นแม่จนไม่มีตังค์ซื้อหนังสือ รุ่นแม่ก็เรียนที่วัดพลงฯ”

เรื่องเล่าจาก “พระอาจารย์จำปี” เป็นคนบ้านพลงช้างเผือก อ.แกลง จ.ระยอง เรียนและบวชที่วัดพลงฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 ไม่เคยสึกจากความเป็นพระ ตัดตอนมาจากเรื่อง วัดกับชุมชน บทสำรวจท้องถิ่นเมืองแกลง จังหวัดระยอง (จิราพร แซ่เตียว 20 ก.ค.2561) มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

คำขอขมาพระรัตนตรัย (ตั้งนะโม 3 จบ)...

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเตฯ

...

หากข้าพระพุทธเจ้าได้เคยประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อพระรัตนตรัย อันมีองค์สมเด็จองค์ปฐม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระธรรมและพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ในชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ด้วยกาย วาจา หรือใจก็ดี ด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ดี

ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี ขอ “องค์สมเด็จองค์ปฐม” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระธรรมและพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ตลอดจนผู้มีพระคุณทุกๆท่าน ได้โปรดอดโทษให้แก่ข้า พระพุทธเจ้า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานด้วยเทอญ

“สมเด็จองค์ปฐม” วัดพลงช้างเผือก อ.แกลง จ.ระยอง “ศรัทธา” เหนือ “ปาฏิหาริย์” ใครที่มีโอกาสได้แวะเวียนเข้าไปกราบสักการะ “สมเด็จองค์ปฐม” วิหาร 100 ปี พระราชพรหม ยาน จักสัมผัสได้

พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ...เจริญสติภาวนาด้วยจิตตั้งมั่น ด้วยศรัทธาที่เปี่ยมล้น

...

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อ โปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

รัก-ยม

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม