“การไหว้”...ในวัฒนธรรมไทยคือการทักทายและแสดงความเคารพต่อกัน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ...ไหว้พระ ไหว้ผู้อาวุโส ไหว้ผู้ที่เสมอกัน ซึ่งแต่ละระดับมีรูปแบบการไหว้และความหมายแตกต่างกันไป
“การไหว้พระ” หมายถึง การไหว้พระ รัตนตรัยรวมทั้งปูชนียวัตถุและปูชนียสถานที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยประนมมือขึ้นให้นิ้วหัวแม่มือจรดที่กลางระหว่างคิ้ว นิ้วชี้แตะที่เหนือหน้าผาก ก้มหัวให้หน้าขนานกับพื้นค้อมหลังพอประมาณ
ถัดมา...“การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส” ได้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพอย่างสูง ประนมมือขึ้นเช่นเดียวกับการไหว้พระ แต่นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้จรดระหว่างคิ้ว
สุดท้าย...“การไหว้บุคคลทั่วไปและผู้เสมอกัน” ให้ประนมมือขึ้นก้มศีรษะเล็กน้อย หัวแม่มือจรดที่ปลายคาง นิ้วชี้แตะที่จมูก ค้อมหลังพอประมาณ ส่วนการไหว้ผู้เสมอกันทั้งชายและหญิงให้ยกมือขึ้นไหว้พร้อมกันหรือในเวลาใกล้เคียงกัน ถึงตรงนี้ข้อมูลจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ระบุไว้อีกว่า...
...
สำหรับ “การกราบ” นั้นหมายถึงการแสดงความเคารพอย่างสูง แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ...“การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์” ใช้อวัยวะทั้ง 5...หน้าผาก มือ ข้อศอกทั้ง 2 เข่าทั้ง 2 สัมผัสกับพื้น
และ “การกราบผู้ใหญ่” เป็นการกราบ ผู้มีพระคุณและผู้ที่มีอายุมากกว่า ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพ ลักษณะการปฏิบัติของชายและหญิงเหมือนกัน คือ นั่งพับเพียบทอดมือทั้งสองข้างลงพร้อมกัน ให้แขนทั้งสองคร่อมเข่าที่อยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประนมตั้งกับพื้นไม่แบมือ
ค้อมตัวลงให้หน้าผากแตะส่วนบนของมือที่ประนม ในขณะกราบ ไม่ต้องกระดกนิ้วมือขึ้นมารับหน้าผาก และกราบเพียงครั้งเดียว
นอกจากนี้แล้วยังมีการกราบในรูปแบบอื่นๆ ที่มักใช้เพื่อแสดงความเคารพอย่างสูงในโอกาสพิเศษ เช่น “กราบเท้า”...กราบเท้าพ่อแม่ กราบเท้าบุคคลที่เคารพหรือผู้ที่นับถือ
“กราบสามี”...ธรรมเนียมไทยในอดีตมีความเชื่อว่าภรรยาต้องกราบสามีก่อนนอนเพื่อแสดงความเคารพที่สามีเลี้ยงดูอย่างดีจนสุขสบาย แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป ภรรยาและสามีต่างมีหน้าที่การงานเพื่อหารายได้ของตนเอง การกราบสามีก่อนนอนจึงค่อยๆหายไป แต่กลายเป็นธรรมเนียมเล็กๆในพิธีแต่งงาน
...ให้เจ้าสาวกราบตักเจ้าบ่าวเพื่อเป็นการฝากเนื้อฝากตัวให้เขาดูแลแทน
ศรัทธาความเชื่อ “องค์หลวงพ่อใหญ่” วัดม่วง จังหวัดอ่างทอง ที่สำคัญมีว่า...หากใครได้มากราบไหว้ขอพร อีกทั้งมีโอกาสได้สัมผัสปลายนิ้วหลวงพ่อใหญ่แล้ว จักทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง สุขสมดังหวังตั้งใจ อีกทั้งหน้าที่การงานก็จะสำเร็จเห็นผล ซึ่งในแต่ละนิ้วของหลวงพ่อ ท่านก็ประทานพรให้ต่างกันออกไป
หลายๆ คนหรือแทบจะทุกๆ คนจึงนิยมสัมผัสและขอพรหลวงพ่อใหญ่ให้ครบทุกนิ้ว
เปิดบันทึกปูมประวัติเดิมทีวัดม่วง จ.อ่างทอง เป็นวัดร้างที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในอดีตเคยเป็นเมืองด่านหน้าที่มีความเจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรหลากหลายชนิด
แต่...เมื่อครั้งสงครามกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงให้กับประเทศเมียนมา ทำให้พื้นที่บริเวณวัดเหลือเพียงซากปรักหักพัง และกลายเป็นวัดร้าง
กระทั่งในปี พ.ศ.2526 “พระครูวิบูลอาจารคุณ” หรือ “หลวงพ่อเกษม” วัดม่วง อ่างทอง ได้เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์ กลายเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ประจำอยู่และปลูกศรัทธาจนวัดแห่งนี้กลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงในที่สุด
...
อีกครั้งกับการบูรณะวัดในช่วงปี พ.ศ.2534 ได้เปิดให้ผู้ที่มีพลังจิตศรัทธาได้ร่วมสมทบทุนสร้าง “พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” ในการนี้จัดสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2552 ถือเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นพระพุทธรูปองค์นั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยมีขนาดหน้าตักกว้าง 62 เมตร สูง 95 เมตร เทียบเท่าตึก 32 ชั้น
นอกจากพระพุทธรูปองค์ใหญ่แล้ว ภายในวัดม่วงยังมีศาสนสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น พระวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล วิหารองค์เทพจีน รวมถึงจะมีรูปปั้นเกี่ยวกับวรรณคดีไทย เทวดา แดนนรก แดนสวรรค์จำลองตามพระไตรปิฎก
นับรวมไปถึง...รูปปั้นเปรตขนาดใหญ่ เพื่อสื่อสะท้อนให้ข้อคิด เป็นอุทาหรณ์สอนใจแก่ญาติโยมที่เดินทางมาเที่ยวที่วัด
“ความทุกข์นั้นมีสองแบบคือ...ทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ ทุกข์ทางกายเป็นเรื่องของกายล้วนๆ แก้ได้โดยอาศัยวัตถุมีประการต่างๆ ส่วนทุกข์อีกประเภทหนึ่งเป็นทุกข์ทางใจ
...ความทุกข์ในทางใจเป็นเรื่องเกิดเพราะความอยากปรารถนาในสิ่งที่ใจต้องการ เกิด เพราะความไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอในเรื่องนั้นๆ มีความรู้สึกขาดแคลนอยู่ตลอดเวลา” ข้างต้นนี้ ท่านภิกขุปัญญานันทมุนี ได้ให้ทรรศนะไว้ในเรื่อง “ท่านเป็นชาวพุทธหรือ? ชาวพุทธควรจะเชื่ออย่างไร”
...
สื่อสะท้อนเรื่องความทุกข์ ที่บางคนก็ต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับการบนบานศาลกล่าว ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยแก้...ปัดเป่าทุกข์โศกที่เข้ามาในชีวิต อาจจะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างหรือสำเร็จมากน้อยแตกต่างกันไป
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.
รัก-ยม
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม