คาถาบูชา มหาสิทธาปัทมสัมภวะ คุรุรินโปเช...“โอม อา หุม วัชร คุรุ ปัทเม สิทธิ หุม” ความหมาย...ด้วยกาย วาจา ใจแห่งพุทธ น้อมรับ วัชร คุรุ ปัทมาสิทธิ...ขอให้เป็นเช่นดังนั้น

คำว่า “วัชร” หมายถึง สายฟ้า...เพชร สัญลักษณ์ของความแกร่งกล้า ฝ่าฟันบรรลุ จรัสกระจ่าง พ้นจากความมืดบอดในวัฏสงสาร ที่มาของชื่อนิกายวัชรยาน คำว่า “คุรุ” หมายถึง ครูอาจารย์ผู้มีความสำคัญรองจากพระรัตนตรัย คำว่า “ปัทมะ” หมายถึง ดอกบัว สัญลักษณ์แทนปัญญาบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสมลทิน

และ...เป็นพระนามของท่านปัทมสัมภวะ

คำว่า “สิทธิ” หมายถึง สำเร็จ...บรรลุ คำว่า “หุม” เป็นคำลงท้ายบทคาถา

สำคัญว่า...ปราชญ์สายวัชรยานท่านหนึ่งได้อธิบายว่า มนตรา 12 พยางค์นี้ แต่ละพยางค์ คือคำศักดิ์สิทธิ์เสมือนพรอันประเสริฐที่กลั่นกรองจากธรรมะ 12 หมวด (แบ่งย่อย 84,000 พระธรรมขันธ์) ที่พระพุทธองค์ทรง สั่งสอน

กล่าวกันว่า “คุรุปัทมสมภพ” หรือ “กูรูรินโปเช” นั้นคือพระพุทธะผู้เกิดจากดอกบัว ชาวพุทธทิเบตนับถือว่าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 พระองค์ทรงเป็นวัชรนิรมานกายของพระอมิตาภะพุทธเจ้า

พระองค์เป็นผู้นำพุทธศาสนาเข้าสู่ทิเบตและดินแดนในแถบหิมาลัย

...

หนึ่งในศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ของประเทศภูฏาน คือ วิหารถ้ำ โกเอน เชอปู เน เป็นจุดหมายของผู้แสวงบุญมานานนับร้อยปี เพื่อบูชาขอพรเรื่องมีอายุยืนยาว เป็นที่ประดิษฐานของ “องค์คุรุรินโปเช ปางประทานพร” เชื่อกันว่า...การมาบูชาสวดมนต์ภาวนาที่นี่จะทำให้ได้พรอันวิเศษสุด ทั้งทางโลกและทางธรรม

มหาสิทธาคุรุปัทมสัมภวะ คุรุรินโปเช พระนามท่านแปลว่า ผู้เกิดจากดอกบัว เป็น วัชราจารย์ผู้เผยแผ่พุทธศาสนาสายวัชรยาน นิกายญิงมาปะ...ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 คุรุรินโปเช เป็นคำเรียกขานท่านในฐานะรัตนาจารย์ ตามคติพุทธมหายาน ถือว่า คุรุทางจิตวิญญาณคือดวงแก้วลำดับที่ 4 รองจากพระรัตนตรัย

ยกย่องท่านเป็น...ครูอาจารย์ผู้ประเสริฐสุด เป็นอริยบุคคลผู้ได้รับความเคารพบูชา จากพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายาน ทั้งในทิเบต เนปาล ภูฏาน และ ประเทศใกล้เคียง มีรูปเคารพอยู่ทั่วไปให้กราบไหว้บูชา ขอพรมากว่าหนึ่งพันปี

....มีเรื่องราวมากมายที่อธิบายว่า “คุรุปัทมสัมภวะ” ทรงประสูติได้อย่างไร บางคนบอกว่าพระองค์ปรากฏตัวบนยอดเขาอุกกาบาตในศรีลังกา บางคนสอนว่า...พระองค์ทรงประสูติจากครรภ์มารดา แต่เรื่องราวส่วนใหญ่กล่าวถึงการประสูติที่น่าอัศจรรย์ โดยอธิบายว่าทรงปรากฏขึ้นเองที่ใจกลางดอกบัว

...เรื่องราวเหล่านี้ล้วนไม่ขัดแย้งกัน เหตุเพราะพระอริยเจ้าที่ตระหนักรู้ในธรรมอันสูงส่งนั้นอาศัยความใจกว้างพร้อมความเข้าใจอันสมบูรณ์ และสามารถทำอะไรก็ได้...“ทุกอย่างมีความยืดหยุ่น ทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้ตามแต่พระองค์ ปรากฏได้ตามต้องการหรือที่จำเป็น”

โครงการ “สืบสานมรดกทางพุทธศาสน์ ไทย ภูฏาน เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา” เพื่อสร้างความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยและประเทศภูฏาน รวมถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมอันสวยงามของประเทศภูฏาน เพื่อนำเงินรายได้สมทบกองทุนฯช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สภากาชาดไทย และเพื่อบูรณะวิหาร จัดสร้าง “พระคุรุรินโปเช” ประดิษฐานสักการะ ณ ประเทศภูฏาน

...

บุญใหญ่มหากุศลครั้งนี้ มีการจัดสร้าง “มหาสิทธาปัทมสัมภวะ คุรุรินโปเช” ขึ้นเพื่อความสิริมงคล 2 รูปแบบ ได้แก่ มหาสิทธา ปัทมสัมภวะ คุรุรินโปเช ตั้งบูชาขนาดหน้าตัก 4 นิ้ว ความสูงรวมฐานหินอ่อน 19 นิ้ว บูชาองค์ละ 299,999 บาท (จัดสร้างจำนวน 108 องค์) และ...มหาสิทธาปัทมสัมภวะ คุรุรินโปเช เนื้อเงินชุบนาก ประกอบด้วยองค์มหาสิทธา ปัทมสัมภวะ คุรุรินโปเช, ตราราชสำนักและวิหารด้านหลังผลิตจากทองคำบริสุทธิ์ 96.5 หนัก 1 บาท บูชาองค์ละ 199,999 บาท (จัดสร้างจำนวน 593 องค์) ผู้ที่สนใจจองบูชาได้ที่...

สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย โทรศัพท์ 0-2256-4623, 0-2256-4440-3

บันทึกไว้ว่า...องค์พระ “คุรุรินโปเช” ทุกองค์จะมี “มวลสาร” ที่ได้มาจากวัดประเทศ ภูฏาน กล่าวได้ว่าสำนักพระราชวังภูฏานรวบรวมไว้ ซึ่งโอกาสที่จะออกมานอกประเทศนั้นยากมาก เพราะเป็นมวลสารศักดิ์สิทธิ์มาก ในการนี้ผ่านพิธีจากวัด 5 แห่ง ซึ่งแต่ละวัดนั้นมีอายุกว่าพันปี

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 14.00 น. ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราช วรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีพุทธาภิเษก พร้อมด้วย Her Majesty Queen Tshering Pem Wangchuk แห่งราชวงศ์ภูฏาน ถึงตรงนี้ อ.วันชัย รวยอารี ที่ปรึกษาโครงการ ให้มุมมองทิ้งท้ายไว้ว่า

...

“พุทธศาสนา...เปรียบประดุจสายน้ำที่มาจากต้นน้ำเดียวกัน นั่นคือองค์พระสัมมา สัมพุทธเจ้า แล้วได้แตกแยกลำธารออกมาหลายสายธาร ไม่ว่า มหายาน วัชรยาน เซ็น เถรวาท...

ทุกสายน้ำที่แตกแยกออกไป ไปตามสาวกที่มีจิตเจตนาจะถ่ายทอดออกไปตามความเชื่อหลักการพุทธศาสนา แยกออกมาได้สองลักษณะคือหลักของเหตุผลและหลักของความเป็นจริงตามพระไตรปิฎก”

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.


รัก-ยม

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม