"สังฆทานเงิน” คืออะไร? คำตอบก็คือ “ถวายเงิน”...ให้เป็นของสงฆ์ ถ้าอยากได้เงินเข้าวัดเพื่อชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าก่อสร้างฯลฯ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาต่อไปดังที่มักอ้างกันทั่วไป โดยวิธีที่ถูกต้องก็คือ... เชิญชวนให้ญาติโยมถวายเงินโดยตรง
การบริจาคเงินบำรุงวัดโดยตรงนั้น เราทำกันอยู่แล้วโดยทั่วไป...บรรพบุรุษเราท่านทำมาแต่ไหนแต่ไรแล้วด้วย การถวายเงินให้เป็นของสงฆ์นั้นสามารถทำเป็นพิธีการแบบเดียวกับ “ถวายสังฆทาน” นั่นเลย
วิธีถวายเงินให้เป็นของ สงฆ์ทำดังนี้ หนึ่ง...เปิดบัญชีเงินฝากของวัด (วัดส่วนมากจะมีบัญชีเงินฝากของวัดอยู่แล้วก็ยิ่งสะดวกมาก) สอง...จัดคนที่ไว้วางใจได้ในความซื่อสัตย์เป็นเจ้าหน้าที่รับเงินสังฆทาน
คนที่เหมาะที่สุดคือไวยาวัจกรที่เจ้าอาวาสตั้งขึ้นตามกฎหมายนั่นแหละ “ไวยาวัจกร” มีหน้าที่รับเงิน... จ่ายเงินของวัดอยู่แล้ว ก็ให้มานั่งทำงานรับเงินสังฆทานเป็นงานประจำวันเสียเลย
สาม...ผู้มีศรัทธาจะบริจาคเงินให้เป็นของสงฆ์แจ้งความประสงค์ว่าจะถวายเป็นจำนวนเท่าไรบาทเดียวก็ถวายได้ไม่ใช่พูดเล่น สี่...พิธีถวายปฏิบัติ นำเงินใส่พานตั้งไว้ตรงหน้าพระ, บูชาพระ, รับศีล, กล่าวคำถวายต่อหน้าพระสงฆ์, มอบเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ (อย่าถวายให้พระรับโดยตรง), พระสงฆ์อนุโมทนา...ผู้ถวายรับพร
...
ห้า...เจ้าหน้าที่ออกใบรับหรืออนุโมทนาบัตรให้เป็นหลักฐาน หก...เมื่อหมดเวลาในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่นำเงินสังฆทานฝากเข้าบัญชีวัด หรือกี่วันจึงจะนำฝากก็แล้วแต่จะกำหนด
“เงินสังฆทานนี้ก็จะไปเป็นค่าน้ำค่าไฟของวัด บำรุงการศึกษาของภิกษุสามเณร ค่าภัตตาหาร ค่ายารักษาโรค ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกสารพัดอย่างอันเป็นประโยชน์แก่สงฆ์ คือพระพุทธศาสนาโดยตรง สมตามความมุ่งหมายของการถวายสังฆทานที่ถูกต้องทุกประการ ไม่จำเป็นต้องเล่นละครบริจาคผ่านชุดสังฆทาน...”
Cr. “พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย” ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา (11 สิงหาคม 2567)
การถวายสังฆทานเงินโดยตรงเช่นนี้ ดูเหมือนจะไปตัดหรือขัดผลประโยชน์ของผู้ผลิตและขายชุดสังฆทาน เช่น อาจจะขายได้น้อยลงเป็นห่วงผู้ผลิตและจำหน่วยก็ดี เป็นความเมตตาหวังดี แต่โปรดเป็นห่วงความถูกต้องให้มากกว่า นึกออกไหมครับสมัยที่ “ถังเหลือง” เฟื่องฟู คนซื้อไปถวายสังฆทานจนถังเหลืองล้นวัด
พอคนเริ่มเบื่อและรู้ไส้ผู้ผลิตที่เอากระดาษยัดไส้ใส่ก้นถัง ผู้ผลิตก็เปลี่ยนรูปแบบจากถังมาเป็นกล่อง เป็นแพ็ก ดูดีไปอีกแบบ แต่ก็คงใช้หลักการเดิมคือของข้างในมีสภาพอย่างไรแกะดูไม่ได้ บังคับขายยกกล่อง
“การไม่ซื้อชุดสังฆทาน แต่ถวายเงินโดยตรง อาจจะช่วยกระตุกสำนึกของผู้มีศรัทธาให้ถวายเฉพาะของที่พระรับไปแล้วท่านฉันท่านใช้จริงๆ ไม่ใช่รับแล้วก็ไปสุมกันเต็มอยู่ในกุฏิเจ้าอาวาส เลือกถวายเป็นชิ้นๆ เฉพาะที่รับแล้วเอาไปฉันเอาไปใช้จริงๆ...นึกไม่ออกว่าจะถวายอะไร ก็ถวายสังฆทานเงินนี่เลย”
ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งก็คือเมื่อมีวิธี “ถวายเงิน” ได้เช่นนี้ ก็ไม่ต้องเอาเงินใส่บาตรกันทุกเช้าให้พระต้องผิดศีล...เป็นอาบัติและผู้ถวายก็ได้บาปติดมากับบุญด้วย ดังที่นิยมทำกันผิดๆทั่วโลกอยู่ทุกวันนี้
อยากถวายเงินให้พระ...ใช้วิธีถวายสังฆทานเงิน
อยากได้เงินจากโยม...บอกให้โยมถวายสังฆทานเงิน
ได้ทรัพย์จากคนมีปัญญา...บริสุทธิ์กว่าได้จากความไม่รู้ไม่เข้าใจ
...
พลเรือตรีทองย้อย ขอเสนอแนะต่อเนื่องไปถึงเรื่อง “สังฆทาน” เริ่มจากวัดต่างๆเลิกสังฆทาน เวียนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ญาติโยมก็อย่าสนับสนุนชุดสังฆทานที่ตั้งไว้บริการตามมุมสังฆทานในวัดต่างๆ
ถัดมา...ใครยังศรัทธาชุดสังฆทานเอามาถวายก็รับไว้ รับแล้วเอาไปเข้าที่ประชุมสงฆ์แบ่งแจกกันไปทันทีหรือไม่เช่นนั้นก็แกะออกจากกล่องจากถัง แยกสิ่งของออกเป็นพวกๆอะไรหมดอายุก็ทิ้งไป อะไรยังใช้ได้ก็เก็บเข้าคลังสงฆ์ พระเณรในวัดต้องการใช้กระดาษทิชชู สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ ก็มาเบิกไปจากคลัง
“บริหารจัดการแบบนี้ ดีกว่าเอาไปสุมไว้ในกุฏิเจ้าอาวาส”
ข้อสาม...ญาติโยมที่มีศรัทธาจะถวายสังฆทาน ขอให้เลือกซื้อของที่พระท่านรับไปแล้วเอาไปฉันเอาไปใช้จริงๆ ไม่ใช่รับแล้วก็ตั้งเวียนอยู่ตรงนั้น หรือหากไม่สะดวกที่จะไปซื้อของก็ถวาย “เงิน” เป็น “สังฆทาน” โดยตรงได้เลย ตรงกับความประสงค์ของวัดด้วย เป็นการปลดแอกชุดสังฆทานและการถวายสังฆทานอย่างผิดๆ
คำถวาย “สังฆทานเงิน” นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
ยัคเฆภันเต สังโฆ ปะฏิชานาตุ อิมัง ธะนัง สังฆัสสะ นิยยาเทมะ สัพพะ หิตูปะกะระณัต ถายะ พุทธะสาสะเน อิมัสสะ ธะนัสสะ ทานัสสะ อานิสังโส สังวัตตะตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุ อาทีนัญจะ ญาตะกานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์โปรดรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอมอบถวาย ซึ่งทรัพย์นี้แก่สงฆ์ เพื่อใช้ทำประโยชน์ทั้งปวงในพระพุทธศาสนา ขออานิสงส์แห่งการถวายทรัพย์นี้ จงเป็นไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และแก่ญาติทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้น ตลอดกาลนาน เทอญ
...
ทั่วไปแล้วเชื่อศรัทธากันอย่างยิ่งว่า การ “ทำบุญตักบาตร” หรือ “ถวายสังฆทาน” เป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์ดีและเร็ว หรือว่ากันว่า... การทำบุญด้วยของใช้ หรือของกินต่างๆก็ถือว่าได้อานิสงส์โดยตรง
หากใครที่มุ่งเน้นการเสริมดวงเร่งด่วน แนะนำให้บริจาคของใช้ที่มีความหมาย เช่น ร่ม... ช่วยให้ชีวิตราบรื่น อยู่เย็นเป็นสุข...เสื่อ หมอน ช่วยให้ชีวิตไร้อุปสรรค มีแต่คนสนับสนุนช่วยเหลือ เป็นต้น
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้... “ลบหลู่”.
รัก-ยม
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม