คำที่เกิดขึ้นถี่ๆบ่อยๆวกไปวนมาอยู่ในหัวของคุณ สะท้อนได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับแก่นชีวิต ยกตัวอย่างเช่น...ถ้าชีวิตกำลังชื่นมื่นจะมีแต่ถ้อยคำหอมหวานประเภท มีความสุขจัง ขอบคุณสวรรค์ ชาตินี้ดีเหลือเกิน ฯลฯ

แต่หากชีวิตกำลังตกระกำลำบากก็จะมีคำประเภท ทำไมซวยอย่างนี้? นี่หรือผลของความดีที่ทำไว้? เมื่อไรจะได้เป็นสุขกับเขาบ้าง? ฯลฯ ข้อน่าสังเกตประการแรกคือ...เมื่อเป็นสุข ความคิดในหัวจะเปล่งประกายระริกระรี้ ไร้เครื่องหมายคำถาม ไร้ความกังขาชีวิตอันใดเลย แต่เมื่อเป็นทุกข์...ความคิดลบๆจะพาออกอ่าว

ตั้งคำถามที่ไม่มีคำตอบให้ตัวเอง “...จากนั้นก็ถามฟ้า ถามลมๆแล้งๆไร้ตัวตนไปเรื่อย เพราะแน่ใจว่าไม่มีมนุษย์อุจจาระเหม็นที่ไหนให้คำตอบที่ถูกใจกับตนเองได้แน่ๆ”

ข้อสังเกตประการที่สองคือ...ถ้าคุณถูกกระทำถูกรังแกโดยไม่เป็นธรรม คำในหัวที่ผุดขึ้นบ่อยๆจะสะท้อนให้เห็นความหยาบหรือประณีตของจิตวิญญาณได้ เช่น สำหรับคนอัตตาสูงแต่ถูกเหยียด ถูกมองต่ำชั้นไม่ให้ความเคารพเกรงใจ ก็อาจมีถ้อยคำด่าทอหยาบคาย ผุดพรายเป็นสายน้ำตกตอบโต้

...ใจคิดด่ามากกว่าด่าออกปากหลายสิบหลายร้อยเท่า อย่างนี้แปลว่าใจยังหยาบอยู่มาก แต่หากถูกกระทำให้เจ็บช้ำน้ำใจแล้วสยบสัตว์ร้ายในหัวตัวเองได้ ไม่พล่ามพ่นพิษออก มาจากจิตหรือจากปาก แถมสามารถเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นระเบียบ หนักแน่นพอจะเปลี่ยนใจขุ่นเป็นใจใสให้ทั้งตัวเองและคู่กรณี

“อย่างนี้แปลว่าใจประณีต คู่ควรกับชีวิตที่ประณีตสุขุม”

...

ข้อสังเกตประการที่สามคือ...ขณะเผชิญสถานการณ์วัดใจ หรือติดด่านยากของชีวิตที่ชวนให้ติดอยู่กับอารมณ์คิดไม่ออก หากมีอาการเล็งตาตรงย้ำบอกตัวเองแต่ว่า ต้องผ่านไปให้ได้อันนั้นสะท้อนความเข้มแข็งของจิตใจ... หากสายตาเลื่อนลอยย้ำถามตัวเองแบบไร้จุดหมายว่า จะเอาไงดี?

อันนั้น...สะท้อนความงงงวย ช่วยตัวเองยาก

หากสายตาล่อกแล่ก บ่นกระปอดกระแปดทั้งด้วยใจและด้วยปากว่าเมื่อไหร่จะผ่านไปเสียที? อันนั้นสะท้อนนิสัยช่างท้อ รอเปล่า...

หากสายตาเหลือบต่ำตอกย้ำคิดว่า ไม่มีทางดีกว่านี้แล้ว อันนั้นสะท้อนอารมณ์หมกจม หดหู่ สิ้นหวัง...ประเภทนี้เห็นข่าวตัดช่องน้อยแต่พอตัว ก็จะเหมือนเห็นผู้นำให้อยากตัดใจเอาแบบนั้นบ้าง...น้อยคนจะได้รู้ความลับของชีวิต นั่นคือ “ความคิด” เป็นสิ่งที่มี “พลังมหัศจรรย์” ในตัวเอง

คุณสามารถกลับข้าง...ไม่ใช่เอาแต่ยอมรับสภาพว่าจิตใจย่ำแย่อย่างนี้ก็ต้องมีคำในหัวอย่างนี้เป็นธรรมดา แต่เปลี่ยนไปมองอย่างนักสู้ว่า...เลี้ยงความคิดอย่างไรไว้ความคิดอย่างนั้นจะเลี้ยงชีวิต หรือทำลายชีวิตคุณในภายหลัง ถ้ารู้ตัวว่าจิตชอบตะโกนถามเทวดาในอากาศว่างข้างหน้า...ก็ลองกลับตัว

“หันมากระซิบถามมันสมองมนุษย์ในกะโหลก ถ้าชอบตั้งคำถามที่ไม่มีคำตอบให้ตัวเอง เช่น เพราะอะไรถึงซวยอย่างนี้? ก็ลองตั้งโจทย์ที่ตอบได้จริง เช่น เพราะคิดยังไง ทำตัวยังไงถึงเอาตัวไปติดกับดักหนูอยู่เรื่อย? ถ้ารู้ตัวว่าชอบก้มหน้าก้มตา คิดตอกย้ำซ้ำเติมตัวเองว่า...คงผ่านไปไม่ได้แน่ๆ ก็ลองเชิดคาง เล็งตาตรงเหมือนจะยิงธนู...แล้วบอกตัวเองอย่างเด็ดเดี่ยวคำเดียว ทีเดียวว่า...ต้องผ่านไปให้ได้!”

คำเดียว ใจเดียว...ในนาทีที่เหมือนจะเพลี่ยงพล้ำให้กับภาคอ่อนแอในตน คุณจะรู้สึกถึงอีกคนที่ลุกขึ้นมาใหม่...ด้วยจิตดวงใหญ่กว่าเดิม...ด้วยมันสมองที่โตกว่าเดิม แม้ว่าจะยังอยู่ในร่างเดิม!

Cr. “Dungtrin” โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กเพจ 8 ส.ค.67 เป็นอีกกุญแจชีวิตที่สำคัญ...

คนที่อายุมากแล้วมี “ความสุข” คือคนที่สามารถทำให้ทั้ง “กาย” และ “ใจ” มีความสุข ได้...กายสุขคือปลอดโรค แข็งแรง อีกทั้งคนเรานั้นมีความหมายเมื่อมี “ชีวิต” และหมดความหมายเมื่อ “ตาย” แต่ถ้าคุณหมดความ หมายตั้งแต่ยังไม่ตาย...ชีวิตคุณไม่สนุกแน่

...

หม่อมหลวง สิทธิไชย ไชยันต์ นักเขียนและนักแปล หนึ่งในผู้ศึกษา “ศาสตร์วิชาโหราศาสตร์” ให้แง่คิดมุมมองไว้อีกว่า คนมาขอให้ทำนายชะตาชีวิต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประสบปัญหาอะไรบางอย่าง กังวล หรืออึดอัด อยากหลุดไปให้พ้นภาวะที่เป็นอยู่

ปัญหาของคนส่วนใหญ่อยู่ตรงนี้แหละ คืออยู่กับปัญหาหนึ่ง รู้อยู่ว่ามันทนทุกข์ รู้ว่าจะทำอย่างไรปัญหาจึงจะจบ แต่ไม่กล้าตัดสินใจทำ แล้วก็มาเที่ยวปรึกษาโค้ชบ้าง ปรึกษาหมอดูบ้าง ทั้งที่ตัดสินใจเองก็ได้

“...ผัวบ้านักก็หย่าเสีย นายบ้านักก็ลาออก อึดอัดมากนักอยู่บ้านไม่ได้ก็ย้ายไป ญาติมาโกงก็ฟ้องศาลไป เขาโกรธก็ช่างเขา เรื่องมันก็ไม่เห็นจะซับซ้อน...ที่ไม่กล้าตัดสินใจเพราะรู้ว่า เมื่อหยุดปัญหาเก่าก็จะเจอปัญหาใหม่ ไม่แน่ใจว่าอะไรมันหนักกว่ากัน”

คาถา “บูชาดวงชะตา”...เสริมขวัญกำลังใจให้ชีวิตรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จ โดยคาถา “พิชัย สงคราม” มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว เคยนำคาถาบทนี้ถวายสมเด็จพระนเรศวรก่อนออกรบ ทำให้คนไทยเชื่อว่าเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยให้แคล้วคลาดจากอันตรายต่างๆ ที่สำคัญ...ช่วยเสริมโชคชะตา

...

ส่วนใหญ่นิยมสวด 9 จบ (ตั้งนะโม 3 จบ)...นะโม เม สัพพะเทวานัง สัพพะคะระหะ จะ เทวานัง สุริยัญจะ ปะมุญจะถะ สะสิ ภุมโม จะ เทวานัง วุโธ ลาภัง ภะวิสสะติ ชีโว สุกะโร จะ มะหาลาภัง โสโร ราหูเกตุ จะ มะหาลาภัง สัพพะ ภะยัง วินาสสันติ สัพพะทุกขัง วินาสสันติ สัพพะโรคัง วินาสสันติ ลักขะณา อะหัง วันทามิ สัพพะทา สัพเพเทวา มัง ปาละยันตุ สัพพะทา เอเตนะ มังคะละเตเชนะ สัพพะโสตถี ภะวันตุ เมฯ

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

รัก-ยม

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม