พรรษานี้ไม่ต่างปีผ่านมา...ที่ฝ่ายสงฆ์พึงประจำ ณ ที่ตั้งคือวัด ไม่โคจรออกไปโดยไม่จำเป็นตลอดระยะ 3 เดือน เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนตามบัญญัติในพระธรรมวินัยแต่ครั้งพุทธกาล

ทางโลก...พุทธศาสนิกชนต่างพร้อมใจกันสร้างเทียนถวาย เพื่อพระสงฆ์จะได้ใช้ส่องสว่างยามศึกษาพระธรรมคัมภีร์ ขณะเทคโนโลยีสมัยนั้นยังไม่มีเช่นวันนี้ ต่อมาจารีตดังกล่าวถูกประยุกต์พัฒนาเป็นศาสนกิจ จนกลายเป็นงานบุญยิ่งใหญ่อลังการ เช่น “เทศกาลประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี” นับอายุได้ 119 ปี มีการต่อยอดสู่ระดับนานาชาติเพื่อส่งเสริมท่องเที่ยว สร้างรายได้จากผู้คนที่แห่ไปเที่ยวปีหนึ่งกว่า 2.5 แสนคน

จังหวัดเลย เมืองชายขอบอีสานติดพรม แดน สปป.ลาว ซึ่งลำพังมีธรรมชาติป่าเขา วัฒนธรรมและวิถีชุมชนเป็นทุนอยู่แล้ว เกิดปิ๊งไอเดีย...จะหยิบงาน “บุญใหญ่” ช่วงฤดูพรรษาท้องถิ่น อ.นาแห้ว กลางภูหลายลูก เช่น ภูเมี่ยง ภูสอยดาว ภูเปือย ซึ่งสภาพยังดิบเป็นสินค้าชวนคนมาเที่ยว

จริยาทร สูหู่ ผอ.ททท.เลย ไปสำรวจแล้วพบว่าสามารถเปิดโลกนาแห้วให้กว้างขึ้น โดยถิ่นนี้ห่างตัวจังหวัดเลย 75 กิโลเมตร มีประชากรหมื่นกว่าคน มีเรื่องราวน่าสนใจถูกซ่อนไว้มากมาย เช่น ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ยามค่ำคืนในเทศกาลสงกรานต์หนึ่งเดียวในโลกที่มี และประเพณี “บั้งเทียน”

...

หรือ...หล่อเทียนพรรษาตามต้นแบบโบราณอันเป็นหนึ่งเดียวในโลกอีกเช่นกัน

สมบัติ ชิดทิด นายก อบต.แสงภา อ.นาแห้ว ผู้เปรียบดั่งปราชญ์ผู้รู้ประเพณีชนบทนี้ดี เล่าว่า เป็นภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่ลูกหลานสืบทอดกันมาโดน (อีสานคือนาน) เมื่อถึงวันสุกดิบก่อนฤดูพรรษาชาวบ้านจะพากันหา “ไผ่เหี้ยะ” ลำต้นขนาดใหญ่เท่าข้อแขนไม่หักงอ ผิวภายในใสสะอาดบอกถึงความบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งมัวหมอง มาใช้เป็นเบ้าหลอมต้นเทียนให้สวยงาม เรียวตรงตามไผ่ต้นแบบ สำหรับนำไปถวายวัดปีละสองร้อยเล่ม

“ส่วนผู้มีจิตศรัทธาจะจัดหาขี้ผึ้งมาร่วมบุญ ต้มหลอมรวมกันแทนความสามัคคีก่อนเทลงในไผ่เบ้าหลอมใช้ เวลาครึ่งวันตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเที่ยงจึงสำเร็จ โดยไม่จำเป็นต้องแต่งลวดลายเพิ่มเติมให้สิ้นเปลืองงบประมาณการผลิต จากนั้นชาวบ้านร้อยคนจะพร้อม ใจกันตั้งขบวนแห่ไปถวายยังวัดศรีโพธิ์ชัย พระอารามโบราณอายุนับ 400 ปี...รับฤดูพรรษา”

ทุกคนล้วนอิ่มบุญหลังแสดงพลังศรัทธาและไม่ลืมตั้งจิตอธิษฐานขอผลบุญครั้งนี้ ดลบันดาลมงคลแก่ชีวิตตนและครอบครัวสืบไป...และคนหมู่มากที่มาร่วมกิจการงานบุญวัดนี้มักจะถือโอกาสไปสักการะต่อยังพระธาตุดินแทน ซึ่งประดิษ ฐานอยู่ภายในเขตคามวัดพระธาตุดินแทน ห่างวัดศรีโพธิ์ชัยราวเจ็ดร้อยเมตร

ที่เชื่อกันว่า...ศักดิ์สิทธิ์และเป็นวัตถุโบราณคู่ถิ่นนี้มานาน

“พระธาตุดินแทน” มีประวัติที่ไร้การบันทึก หากมีแต่คำบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ว่าสมัยนั้นบ้านแสงภายังเป็นชนบทห่างไกลความเจริญ ชีวิตผู้คนยังอยู่ในวังวนความเชื่องมงายกับผีสางป่าเขา กระทั่งผีเรือนผีปู่ผีตาคล้ายว่า... สามารถคุ้มครองได้ในทุกๆด้าน

จนวันหนึ่ง...เกิดมีพระสงฆ์ผู้บำเพ็ญตน ในศีลและธรรม ที่ไม่มีผู้ใดรู้ถึงแก่นแท้ว่าเป็นผู้ใด แต่ประมาณว่า...เป็นพระนักธุดงค์จากบางกอก แรมวันแรมคืนเรื่อยมา ผ่านแผ่นดินอีสานเลียบ แคมโขงตั้งแต่อุบลราชธานี นครพนม สู่อุดรธานีถึงเมืองเลยต่อไปยังแคมน้ำเหืองนาแห้ว

แล้วพบว่า...คนบ้านนี้ไร้ซึ่งศีลขาดธรรมะที่คือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ซ้ำร้ายยังหมกมุ่นกับการล้มวัวควายเซ่นบูชาผีที่ตนหลงเชื่อเป็นสรณะ...พระผู้มากมีด้วยเมตตาธรรมถึงได้เร่งเปลี่ยนความรู้สึกนี้แก่ผู้หลงผิดคิดเบียดเบียนชีวิตสัตว์โลกที่เห็นเป็นเรื่องธรรมดา

โดยหมายมั่นให้ทุกคนหันมายึดถือพุทธ ศาสนา จะได้หยุดฆ่าสัตว์ไม่มีพฤติกรรมผิดศีลธรรม เลิกล้มพิธีบูชาผีทั้งหลายและหลุดพ้นความงมงายด้านไสยศาสตร์เสียที

...

การชำระล้างความเชื่อนี้...เริ่มจากการสอนให้ชาวบ้านเหล่านั้นตั้งอยู่ในคำสอนของพระพุทธองค์...รู้จักอุทิศตนบำรุงศาสนาให้เจริญงอกงามขึ้นก่อน

แล้วความรุ่งเรืองจะตามมาสู่ตนภายหลัง...นี่จึงเป็นชนวนให้ชาวบ้านแสงภาถวายตัวเป็นพุทธมามกะ เมื่อวันเพ็ญเดือน 12 ปี 2146 หรือกว่าสี่ร้อยปีก่อน ด้วยการลงมือขุดดินและหินที่มีในชุมชนมาร่วมสร้างองค์พระธาตุก่อจากกองดินปนหินแทนหินศิลาแลง ขนาดความสูงเท่าเนินดินขนาดย่อมแล้วเรียกสิ่งนี้ว่า...

“พระธาตุดินแทน” มีธงและเศวตฉัตรประดับอยู่ตรงยอดจนวันนี้

ทุกปีจะมีงานสมโภชช่วงกลางวันของคืนวันเพ็ญเดือน 12 แล้วพอกลางคืนจะเป็นพิธีลอยกระทง ควบคู่กันไป โดยปราชญ์ผู้รู้ท่านนี้เล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่จริงว่า...

“มันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ใครมาถึงนาแห้วแล้ว จะต้องไปไหว้สักการะวัดศรีโพธิ์ชัยเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อน จึงย้ายมากราบบูชาพระธาตุดินแทน เพื่ออธิษฐานขอในสิ่งที่ตนหวังเป็นอันดับต่อไป”

ผู้เล่าหยุดนิดหนึ่งถึงร่ายต่อ “คนหนุ่มสาวชอบที่จะมาไหว้ขอพรหาคู่ครอง หรือขอบุตรในรายที่สมรสแล้ว ทหารตำรวจ ข้าราชการมาขอความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ส่วนผู้จะถูกส่งไปชายแดนใต้จะมาขอให้แคล้วคลาดจากภัยทั้งปวง นักธุรกิจนั้นแน่นอนย่อมขอให้ร่ำรวยด้วยผลกำไร และประชาชนทั่วไปมักขอในเรื่องโชคลาภ...ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้สมหวังดังสิ่งที่ขอ”

...

บางคน...อธิษฐานในใจถึงองค์ธาตุโดยไม่ได้มาแล้วสำเร็จ แต่ต้องมาแก้บนด้วยการขนดินและหินถวาย พร้อมร่มบังแดดสัญลักษณ์ความร่มเย็นกับต้นผึ้งที่ทำสมมติจากต้นกล้วย โดยพิธีเริ่มจากถวายดินคู่กับหินครั้งละร้อยถึงสองร้อยถังและห้าร้อยถึงพันถัง น่าสนใจว่า...เคยเห็นนักการเมืองแก้บนมากครั้งละหมื่นถังทีเดียว

วิธีการเช่นนี้แหละ...ที่ทำให้ขนาดพระธาตุดินแทนพองโตขึ้นทุกวัน

ความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุอายุ 400 ปีที่ว่า แม้แต่ท่านทูตภูฏานประจำประเทศไทยก็ยังอุตส่าห์ดั้นด้นมาจนถึงนาแห้ว โดยบอกเหตุผล... พระธาตุองค์นี้มากด้วยบารมี ปาฏิหาริย์เหมือนพระธาตุที่ภูฏานมีมาทุกวันนี้...จึงมิน่าจะมีผู้ใดคิดลบหลู่ หรือทำลายศรัทธาด้วยอคติแห่งตนเป็นแน่แท้

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

...

รัก-ยม

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม