“หนุมาน” เป็นพญาวานรที่เป็นทหารเอกของพระราม มีผิวกายสีขาว มีกุณฑล (ตุ้มหู) ขนเพชร เขี้ยวแก้ว หาวเป็นดาวเป็นเดือน หนุมานเป็นลูกของนางสวาหะกับพระพายซึ่งเป็นเทพแห่งลม หนุมานจึงมีชื่อว่า “วายุบุตร” ด้วยหนุมานแปลว่าผู้มีคางหมายถึงหนุมานมีคางใหญ่และเด่น

พระอิศวรเล็งเห็นว่านางสวาหะผู้ถูกนางกาลอัจนาสาปให้ไปยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลมอยู่ที่เชิงเขาจักรวาล สมควรมีลูกที่จะได้เป็นทหารเอกของพระราม จึงให้พระพายเอากำลังและอาวุธของพระองค์ไปซัดเข้าปากนางสวาหะเพื่อให้เกิดลูกผู้เก่งกล้า

อาวุธทั้ง 3 อย่างคือ...จักรแก้วกลายเป็นหัว ตรีเพชรกลายเป็นร่างกายและมือเท้า คทาเพชรก็กลายเป็นสันหลังถึงหาง เมื่อจะทำลายล้างศัตรูให้ชักเอาตรีเพชรที่อกออกมา ให้พระพายเป็นบิดาและเป็นผู้รักษากุมารนั้น

หนุมานมีกำเนิดที่พิเศษกว่าลิงอื่นๆ คือกระโดดออกจากปากของมารดาในวันอังคาร เดือนสาม ปีขาล มีผิวกายสีขาว มีขนาดเท่ากับผู้มีอายุได้ 16 ปี

ข้อมูลข้างต้นนี้มาจากคลังความรู้ “สำนักงานราชบัณฑิตยสภา”

...

“หนุมาน” ...เป็น “เทพลิง” เชื่อว่าไม่ว่าใครก็น่าจะพอรู้ว่าหนุมานนั้นมีพละกำลังมีพลังมากมายมหาศาลยิ่งนัก ทั้งยังมีความว่องไวเป็นสำคัญ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ด้วยว่ามีพระบิดาเป็น “พระวายุ” เทพแห่งลม... อาจจะกล่าวได้ว่าหนุมานนั้นมีชาติกำเนิดที่สลับซับซ้อน

ใน “รามเกียรติ์” หนุมานเป็นบุตรของพระพายเทพแห่งลมกับนางสวาหะซึ่งเป็นมนุษย์ โดยพระอิศวรเป็นผู้สั่งให้พระพายนำอาวุธ ได้แก่ คทาเพชร ตรีเพชร จักรแก้ว รวมไปถึงกำลังของพระอิศวรไปซัดเข้าปากนางสวาหะซึ่งถูกสาปให้ “อ้าปากยืนตีนเดียว เหนี่ยวกินลม” อยู่ที่เชิงเขาจักรวาล โดยให้พระพายเป็นพระบิดาของวานรที่เกิดมา ซึ่งวานรนั้นก็คือหนุมานผู้ได้รับอำนาจพิเศษจากบิดา สามารถฟื้นคืนชีพได้เมื่อถูกกระแสลม

ส่วนในเรื่อง “รามายณะ” ที่ประพันธ์โดย ฤาษีวาลมีกิ กล่าวถึงกำเนิดของหนุมานว่าเป็นลูกของลิงแท้ๆ คือวานรเพศเมียชื่ออัจนา สามีของนางอัจนาก็เป็นวานรชื่อเกสรี ผู้มีกำลังมากจนสามารถฆ่าช้างได้ แต่ไม่ใช่พ่อของหนุมาน เพราะนางอัจนานั้นเดิมเป็นนางอัปสรผู้มีความงามลือเลื่องอยู่บนสวรรค์....

แต่ต้องคำสาปให้ลงมาเกิดเป็นวานรบนโลกมนุษย์ จะพ้นคำสาปก็ต่อเมื่อให้กำเนิดองค์อวตารของพระอิศวร กระทั่งในวันหนึ่งขณะที่นางอัจนากำลังสวดอ้อนวอนขอให้พระอิศวรอวตารลงมาถือกำเนิดกับนาง ก็บังเกิดลมพัดมา และพระพายได้นำขนมมาใส่ในมือของนางอัจนา

เมื่อนางกินขนมนั้นเข้าไปก็ตั้งครรภ์ และต่อมาก็ได้ให้กำเนิดเป็น “หนุมาน”

บูชาขอพร “หนุมาน” ให้เข้มแข็ง ชนะศัตรู ไม่มีพ่ายแพ้ต่อสิ่งใด ให้ท่านประทานพรแห่งความซื่อสัตย์จากเจ้านาย ผู้บังคับบัญชารักใคร่เอ็นดู...ลูกน้อง...บริวาร มีแต่ความกลมเกลียวสามัคคี ไม่เกลียดชังกัน

บทที่ 1...“โอม ศรี หนุมาน นะมะห์”, บทที่ 2 “โอม ศรีหนุมัทเต นะมะห์”, บทที่ 3 “โอม ศรีรามะ ชยะ ชยะ รามะ”, บทที่ 4 “โอม ศรี หนุมานะ ชยะ ชยะ หนุมานะ”

บทที่ 5 “โอม อัญจาเนยายะ วิดมาเฮ มหาบัลลาเย ดีมาฮี ตันโน หนุมาน ประโจทะยาต”, บทที่ 6 “โอม อันจานี สุทายะชา วิดมาเฮ วายุ ปุตรายะชา ดีมาฮี ตันโน มรุทถี ประพโจทยาต”

...

สำหรับมนต์คาถาบูชาหนุมานตามตำราไทยโดยย่อนั้นมีบันทึกไว้ว่า “นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ จะภะกะสะ หะนุมานะ” คาถาหัวใจหนุมาน “หนุมานะนะสังสะตัง”

คาถาปลุกกำกับหนุมาน “นะมัง เพลิง โมมังปาก กระบอก ยะมิให้ออก อุทธัง โธอุด ธังอัดอะสัง วิสุโรปุสะพุพะ มะอะอุ โอมยะพุทธา ทะโยสตรี สตรี นิสังโห”

อีกความเชื่อสำคัญหนึ่งมีว่า... “หนุมาน” นั้นยังเป็นเสมือนตัวแทนของชายหนุ่มทั่วไปที่มีรูปงาม...มีนิสัยเจ้าชู้ มีภรรยามาก...ตามตำนานเรื่องเล่าก็อย่างเช่นนางสุพรรณมัจฉา

โดยทั้งคู่มีพยานรักด้วยกันหนึ่งตนก็คือ “มัจฉานุ”...ลูกผสมของลิงเผือกกับปลา รูปลักษณ์สำคัญคือมีกายเป็นลิงเผือกเหมือนหนุมาน แต่หางนั้นกลับเป็นปลา

อีกคนก็คือ “นางเบญจกาย” บุตรีพญาพิเภก ทั้งคู่สานสัมพันธ์รักด้วยกันตอนที่นางเบญจกายจำแลงเป็นศพของนางสีดาลอยทวนน้ำมา เพื่อหลอกให้พระรามเสียพระทัย แต่ภายหลังถูกจับได้ พระรามจึงให้หนุมานพานางเบญจกายไปส่งกลับเมือง ซึ่งทั้งคู่มีพยานรักด้วยกันก็คือ “อสุรผัด”

...

“หนุมาน”...เป็นลิงเผือก มีสีขาวเป็นสีประจำกาย เมื่อสำแดงฤทธิ์จะมี 4 หน้า 8 มือ นอกจากนี้ยังมีลักษณะพิเศษอื่นๆอีก เช่น สวมกุณฑล มีขนเพชร มีเขี้ยวเป็นแก้ว ที่สำคัญยังหาวเป็นดาวเป็นเดือน

ดังคำกลอนที่ว่า...“ลอยอยู่ตรงพักตร์ชนนี รัศมีโชติช่วงในเวหา มีกุณฑลขนเพชรอลงการ์ เขี้ยวแก้วแววฟ้ามาลัย หาวเป็นดาวเดือนระวีวร แปดกรสี่หน้าสูงใหญ่ สำแดงแผลงฤทธิ์เกรียงไกร แล้วลงมาไหว้พระมารดร”

ความพิเศษของเทพหนุมานนั้นมีมากล้นเหลือคณา เป็นลิงเผือกที่มีฤทธิ์มากนัก หากจะขยายความในเรื่องสำแดงเดชออกไปอีกก็มีได้หลายประการ เช่น ขยายร่างกายให้ใหญ่โตได้ การยืดหางให้ยาวได้

ประการสำคัญก็คือหนุมานยังมีความเป็นอมตะ...ไม่มีวันตาย

ครั้งเมื่อมีอันตรายถึงตายแล้ว เพียงแค่มีลมพัดผ่านมา “หนุมาน” ก็สามารถกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ หนีจากความตายได้อย่างน่าอัศจรรย์

...

ศรัทธาความเชื่อของคนจำนวนไม่น้อยที่มีต่อ “หนุมาน” นั้นหลักใหญ่ใจความอาจจะเป็นเรื่องของความคงกระพันชาตรี การต่อสู้ที่เข้มแข็ง... รวดเร็วประดุจสายลมพัดผ่าน อีกทั้งยังมีความมุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จสมหวังในเรื่องราวต่างๆ ดุจดั่งชัยชนะของหนุมานเทพวานรผู้ที่ไม่เคยพ่าย

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่ออย่างไร ขอโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

รัก-ยม

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม