เช็งเม้ง คือเทศกาลที่ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนต่างเดินทางมารวมตัวกัน เพื่อไหว้สุสานบรรพบุรุษอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา วันเช็งเม้ง 2567 ตรงกับวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567 ลูกหลานสามารถเริ่มต้นไหว้เช็งเม้งได้ตั้งแต่วันพุธที่ 20 มีนาคม 2567 เป็นต้นไปจนถึงวันเช็งเม้ง ในเทศกาลนี้ลูกหลานต้องทำอะไรเพื่อไหว้บรรพบุรุษบ้าง
วันเช็งเม้ง 2567 ตรงกับวันไหน
วันเช็งเม้ง ปี 2567 ตรงกับวันศุกร์ที่ 5 เมษายน ตามปฏิทินจันทรคติปีนี้วัน “ชุงฮุง” หรือวันเริ่มไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวันที่ประตู 3 ภพเปิด ตรงกับวันพุธที่ 20 มีนาคม 2567 ลูกหลานจึงสามารถเริ่มเดินทางไปไหว้ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันเช็งเม้ง
คำว่า เช็งเม้ง หมายถึงความสะอาด บริสุทธิ์ และแสงสว่าง ชาวไทยเชื้อสายจีนจะรวมตัวกันนัดญาติพี่น้อง ลูกหลาน ไปยังสุสานเพื่อทำความสะอาดและจัดเตรียมของไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ
ประวัติเทศกาลเช็งเม้ง
ประวัติของเทศกาลเช็งเม้งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติตามความเชื่อของลัทธิขงจื๊อ ซึ่งถือความกตัญญูต่อบรรพบุรุษเป็นหลัก ตำนานการเกิดวันเช็งเม้งมีเรื่องเล่าไว้หลายตำนาน หนึ่งในนั้นคือจุดเริ่มต้นสมัยราชวงศ์ถัง ราวปี พ.ศ. 1161-1170 คาดว่าผู้คิดค้นคือขุนนางราชวงศ์โจว เป็นผู้กำหนดพิธีการจัดการงานไหว้หลุมศพ จากบันทึกของราชวงศ์ถัง การไหว้สุสานหลุมศพบรรพบุรุษกระทำปีละ 2 ครั้ง ช่วงต้นปีและปลายปี
...
ตำนานการทำความสะอาดสุสานในเทศกาลเช็งเม้งก่อนเริ่มการไหว้นั้น มาจากพระเจ้าฮั่นเกาจู ผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่น เนื่องจากพระองค์ระลึกถึงบิดามารดาที่เสียชีวิตไปแล้ว จึงเดินทางไปยังบ้านเกิด แต่จำสุสานของบิดามารดาของตนไม่ได้ จึงอธิษฐานต่อเทพบนสวรรค์ด้วยการโปรยกระดาษสีขึ้นฟ้า เพื่อให้กระดาษปลิวไปตกยังป้ายสุสานใด จะถือว่าสุสานนั้นเป็นสุสานของบิดามารดา เมื่อทรงทอดพระเนตรป้ายหลุมศพที่กระดาษตกลงไปชัดๆ ก็พบว่าเป็นหลุมศพของบิดามารดาของพระองค์ หลังจากนั้นประเพณีทำความสะอาดฮวงซุ้ย และทาป้ายชื่อหลุมศพใหม่ จึงเป็นที่นิยมปฏิบัติกันต่อมา
ลูกหลานต้องทำอะไรในวันเช็งเม้ง
สิ่งที่ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีในวันเช็งเม้ง ที่ลูกหลานชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนทำสืบต่อกันมา มีดังต่อไปนี้
- ทำความสะอาดสุสานบรรพบุรุษให้น่ามอง แต่ห้ามถอนหญ้า เพราะอาจไปกระทบกับตำแหน่งต้องห้าม เช่น ทิศอสูร ทิศแตกสลาย ทิศดาวเบญจภูติ
- ตกแต่งสุสานให้ดูใหม่ หากป้ายชื่อบรรพบุรุษมีสีซีดแล้วก็ลงสีป้ายชื่อใหม่โดยใช้สีเขียว หรือสีทองขลิบเขียว นำกระดาษม้วนสีรุ้งมาตกแต่งให้สวยงาม แต่ไม่ควรปักธงบนหลังเต่า เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้หลังคาบ้านของบรรพบุรุษรั่ว
- กราบไหว้เจ้าที่ เป็นการให้เกียรติ และขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองดูแล
- กราบไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ
- เผากระดาษเงิน-กระดาษทอง และจุดประทัด
- ล้อมวงกินอาหารไหว้ร่วมกัน เป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากลาของไหว้ เพื่อแสดงความสามัคคี และจุดประทัด เพื่อความเป็นสิริมงคลในเทศกาลเช็งเม้ง
วันเช็งเม้ง 2567 มีของไหว้อะไรบ้าง
สำหรับของไหว้ในวันเช็งเม้ง จะแบ่งออกเป็นของไหว้สำหรับเจ้าที่ และของไหว้สำหรับบรรพบุรุษ
ของไหว้เจ้าที่
- เนื้อสัตว์ 3 อย่าง
- ขนม 3 อย่าง
- ผลไม้ 3 หรือ 5 อย่าง
- ธูป 5 ดอก พร้อมเทียนแดง 1 คู่
- เหล้า หรือน้ำชา
ของไหว้บรรพบุรุษ
- ข้าวสวยใส่ถ้วย พร้อมตะเกียบ
- เหล้า หรือน้ำชา
- กระดาษเปิดทาง
- อาหาร 3 หรือ 5 อย่าง
- สัตว์ประเภท หมู ไก่ เป็ด หรือปลา
- กับข้าวอื่นๆ ที่บรรพบุรุษชอบรับประทาน และผลไม้ลูกสวยๆ เช่น ส้ม, แอปเปิล, กล้วย, ทับทิม, แก้วมังกร, องุ่น
- ขนมไหว้ ได้แก่ ขนมไข่, ซาลาเปา, ฮวกก้วย และจูชังเปี๊ยะ
- กระดาษไหว้เจ้า ได้แก่ กระดาษหงิ่งเตี๋ย, กระดาษเงินกระดาษทอง และกระดาษรูปของใช้ต่างๆ
- ประทัด