ชาวจีนโบราณมีความเชื่อเกี่ยวกับ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ 4 ชนิด คือ กิเลน หงส์ เต่า มังกร โดยเชื่อว่า “มังกร” เป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งมังกรจีนหรือที่ชาวจีนเรียกกันว่า “เล้ง–เล่ง–หลง–หลุง” จะมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของการออกเสียงของในแต่ละท้องถิ่น
ทว่า... “ชาวจีน” ถือว่ามังกรนั้นเป็นสัญลักษณ์ของพลัง อำนาจ ความยิ่งใหญ่ และเพศชาย เนื่องจากมังกรจีนเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์...เป็นสัตว์แห่งเทพเจ้าในสรวงสวรรค์และเป็นตัวแทนของจักรพรรดิ
ว่ากันด้วยเรื่องลักษณะมังกรจีน...เป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ลักษณะหัวคล้ายอูฐ มีเขาคล้ายเขากวาง ดวงตาคล้ายดวงตากระต่ายป่าหูคล้ายหูวัว ปีกคล้ายนกอินทรี มีลำคอยาวคล้ายงู ช่วงท้องมีลักษณะคล้ายกบหรือหอยกาบ และเกล็ดเหมือนของปลาคาร์ป รูปร่างคล้ายกับปลาตัวใหญ่ เท้าคล้ายกับเท้าเสือ
เสียงร้องคล้ายเสียงตีฆ้อง เมื่อหายใจลมหายใจมีลักษณะคล้ายเมฆ ซึ่งบางครั้งก็ออกมาเป็นฝน บางครั้งก็เป็นเปลวไฟ
“มังกรจีน” มีเขี้ยวขนาดใหญ่หนึ่งคู่อยู่ที่ขากรรไกรบน มีหนวดยาวลักษณะเหมือนไม้เลื้อย และมีแผงคอเหมือนของสิงโตอยู่บนคอ...คาง...ข้อศอก มีเกล็ด 117 แผ่น แบ่งออกเป็น “หยิน” และ “หยาง”
โดย 81 แผ่นเป็นหยางมีความดี... 36 แผ่นเป็นหยินมีความชั่ว
...
เขาสันหลังทอดยาวไปตามหลังและหางเป็นหนามยาวและสั้นสลับกัน มีโหนกอยู่บนหัวไว้สำหรับบิน แต่ถ้าเขาไม่มีโหนก มังกรก็จะกำคทาเล็กๆไว้ใช้ในการบินแทน...นอกจากนี้แล้วสีของมังกรจีนก็มีหลายสี ตั้งแต่แกมเขียวจนถึงทอง หรือบางแหล่งก็ว่ามังกรจีนมีสีน้ำเงิน ดำ ขาว แดง เขียว หรือเหลือง
ว่ากันว่า...“มังกรจีน” ในตำนานมีอิทธิฤทธิ์ สามารถทำตัวเองให้ใหญ่เท่ากับจักรวาลหรือให้เล็กเท่ากับหนอนไหม นอกจากนี้ยังมีนิสัยเมตตากรุณา เป็นมิตร ทะเยอทะยาน และมองโลกในแง่ดี ที่สำคัญ...มังกรจีนยังฉลาดมีปัญญามาก มีความเด็ดขาด และมีพลัง จึงถูกยกย่องให้เป็นที่ปรึกษาของผู้นำ
สำหรับการนำสัญลักษณ์มังกรมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นรูปวาด รูปปั้น หรือประดับตามข้าวของเครื่องใช้ หากเป็นของจักรพรรดิ มังกรจะมี 5 เล็บ...ของขุนนางจะมี 4 เล็บ...ถ้าสามัญชนจะมี 3 เล็บเท่านั้น
0 0 0 0
ศรัทธา “เหรียญมังกรทอง” ปลุกเสกที่วัดเล่งเน่ยยี่ เพื่อเป็นสิริมงคลและเตือนสติไม่ให้ประมาทในโอกาสเทศกาลตรุษจีน บรรจุในซองสีแดง มีข้อความภาษาจีน “อู่ฝู ฉางโช่ว ฟู้กุ้ย คังหนิง ฮ่าวเต๋อ ฮั่นจง” และข้อความภาษาไทย “ประทานทรัพย์ โชคลาภ สุขภาพ ร่ำรวย การงานมั่นคง การเงินมั่งคั่ง”
สำหรับคนปีมะโรง เกิด พ.ศ.2471, 2483, 2495, 2507, 2519, 2531, 2543, 2555, 2567, 2579, 2591 “มูลนิธิเมาไม่ขับ”...แจกให้ประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ไม่มีการเช่าหาแต่อย่างใด
“มังกรทอง” หรือ “พญามังกร” เป็นมังกร 4 ตัว ซึ่งปกครองอยู่เหนือทะเลทั้ง 4 คือ ทะเล ตะวันออก (ตัง), ใต้ (น้ำ), ตะวันตก (ไซ) และเหนือ (ปัก) กล่าวกันว่าพญามังกรนั้นอาศัยอยู่ในปราสาทมหาสมุทรหรูหรา...วังใต้ทะเลและกินไข่มุกเจียงตู หรือไข่มุกและโอปอลเป็นอาหาร
พญามังกรทั้งสี่เป็นพี่น้องกัน แต่บางแหล่งข้อมูลก็บอกว่า มังกร 4 ตัวนี้ มีผู้ควบคุมชื่อว่า “ฉินแท็ง” เป็นมังกรที่มีสีแดงเลือด มีแผงคอเป็นไฟยาว 900 ฟุต
ย้ำว่า “มังกร”... เป็นสัตว์อมตะ แถมยังมีอิทธิฤทธิ์มาก เนื่องจากมีลูกแก้ววิเศษอยู่ในปาก ทำให้สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ หรือจะเดินดิน ดำน้ำก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้แล้วยังสามารถล่องหนหายตัว แปลงกายเล็กใหญ่ได้ตามใจ ทั้งยังเป็นพาหนะของ “เจ้าแม่กวนอิม” อีกด้วย...ชาวจีนจึงยกย่องให้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
0 0 0 0
...
“มังกร” จากความเชื่อในตำนานสู่สัญลักษณ์มงคล พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก สุโขทัย เผยแพร่ไว้ว่า คำว่า “มังกร” ภาษาจีนอ่านว่า “หลง” เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะสัตว์วิเศษในตำนานและวรรณกรรมของโลกตะวันออกและโลกตะวันตก หากแต่มีลักษณะแตกต่างกันไปตามความเชื่อของแต่ละชนชาติ
โดยมังกรปรากฏเด่นชัดในดินแดนแถบเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น โดยเฉพาะในวัฒนธรรมจีนให้ความสำคัญกับมังกรจนถึงกับยกย่องเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติเลยทีเดียว
“มังกร” ที่พบในตำนานของทางยุโรปและของทางเอเชียแตกต่างกันทั้งในแง่ของลักษณะและสัญลักษณ์ โดยลักษณะของมังกรในดินแดนเอเชียตะวันออกเป็นสัตว์ผสมจากสัตว์ 9 ชนิด จัดอยู่ในประเภทสัตว์เลื้อยคลานหรืองู ไม่มีปีกแต่สามารถบินไปในอากาศได้ ขณะที่มังกรทางยุโรปจะมีขา มีปีก สามารถพ่นไฟได้
ในแง่สัญลักษณ์ในคติความเชื่อของจีนซึ่งแผ่ขยายไปยังวัฒนธรรมเกาหลีและญี่ปุ่นด้วยนั้น จะถือว่ามังกรเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับฟ้าฝนและแหล่งน้ำ มีสถานะเป็นเทพเจ้า
รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของ “จักรพรรดิ” ซึ่งเป็นสมมติเทพ
...
ดังจะเห็นได้จากการสงวนให้มังกร 5 เล็บ ใช้ประดับตกแต่งบนข้าวของเครื่องใช้ของ จักรพรรดิและรัชทายาทลำดับที่ 1–2 เท่านั้น สำหรับรัชทายาทในลำดับถัดมาหรือขุนนางในระดับต่างๆจะจำแนกด้วยการประดับมังกรที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน
นอกจากนี้มังกรยังถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ประจำทิศตะวันออกใน “ศาสตร์ฮวงจุ้ย” อีกด้วย ขณะที่ตำนานทางยุโรปจะถือมังกรเป็นสัตว์อันตรายและน่าสะพรึงกลัวสำหรับมนุษย์ เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย
ซึ่งเป็นคติที่สืบมาจากความหวาดกลัวงูของชาวยุโรปและยังเป็นศัตรูตัวฉกาจของเหล่า วีรบุรุษ ผู้ใดสามารถสังหารมังกรได้จะได้รับการยอมรับและขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ เหตุนี้มังกรจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ทั้งที่มีตัวตนจริงและกษัตริย์ในตำนาน
จากความเชื่อในวัฒนธรรมจีน มังกรจึงติดตัวชาวจีนไปทุกหนทุกแห่งและได้แผ่ขยายความเชื่อไปยังดินแดนที่ไปถึง โดยปรากฏในงานศิลปกรรมจีนทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม
หรือ...แม้แต่ของใช้อย่างเครื่องถ้วยก็ตาม ซึ่งนอกจากจะใช้ในชีวิตประจำวันแล้วยังใช้เป็น เครื่องประดับตกแต่งอาคารสถานที่เพื่อเสริมบารมีและความเป็นสิริมงคลให้กับเจ้าของและผู้อยู่อาศัยเช่นกัน
...
“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” เชื่อไม่เชื่ออย่างไรโปรดอย่าได้ “ลบหลู่”.
รัก-ยม