“อสมาทานจาโร”...อานิสงส์กฐินที่ไม่มีใครนึกถึงภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ (คือข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระวินัย) 5 ประการ (เหมือนอานิสงส์การจำพรรษา) คือ (1) จาริกไปไม่ต้องบอกลา (2) จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ (3) ฉัน คณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้ (4) เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา (5) จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ

อานิสงส์กฐินทั้ง 5 ข้อนี้ควรแก่การศึกษาให้เข้าใจ...คำหนึ่งที่น่ารู้คือ “จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ” หมายความว่าอย่างไร?... แปลมาจากคำบาลีว่า “อสมาทานจาโร” (อะ–สะ–มา–ทา–นะ–จา–โร)

ในอานิสงส์กฐิน ท่านแปล “อสมาทานจาร” ว่า จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ “อสมา ทานจาร” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อสมาทานจาโร”

ขยายความ...อานิสงส์กฐินข้อนี้ เกี่ยวโยงกับสิกขาบทที่ 2 แห่งจีวรวรรคในหมวดอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์สิกขาบทที่ 2 แห่งจีวรวรรค บัญญัติไว้ดังนี้ “นิฏฺฐิตจีวรสฺมึ ภิกฺขุนา อุพฺภตสฺมึ กฐิเน เอกรตฺตมฺปิ เจภิกฺขุ ติจีวเรน วิปฺปวเสยฺย อญฺญตฺร ภิกฺขุสมฺมติยา นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยนฺติ ฯ”

...

หนังสือวินัยมุขเล่ม 1 พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แปลไว้ดังนี้...“จีวรสำเร็จแล้ว กฐินอันภิกษุเดาะเสียแล้ว ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้สิ้นราตรีหนึ่ง เว้นเสียแต่ภิกษุได้รับสมมติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

หนังสือ “นวโกวาท” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แปลสรุปไว้ดังนี้...ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้สมมติ ข้างต้นนี้ นาวาเอกทอง ย้อย แสงสินชัย โพสต์ให้ความรู้ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ขอสรุปตัดตอนไว้เป็นความรู้

@@@@@@

ผ้าคือเครื่องนุ่งห่มเป็นของจำเป็น สมัยพุทธกาลผ้าหายาก เครื่องนุ่งห่มของภิกษุมี 3 ผืน ที่เรียกว่า “ไตรจีวร” มีพุทธบัญญัติให้ภิกษุมีได้เพียงชุดเดียว จึงเป็นบริขารที่ต้องดูแลรักษาอย่างเข้มงวด...เจตนาของสิกขาบทนี้ก็คือ ให้ภิกษุเก็บรักษาไตรจีวรไว้กับตัวตลอดเวลา มีหลักปฏิบัติว่า ทุกเช้าของแต่ละวันภิกษุจะต้องมีไตรจีวรอยู่กับตัว ....ถ้าอรุณขึ้น จีวรผืนใดผืนหนึ่งไม่อยู่ติดตัว ถือว่ามีความผิด ที่เรียกว่า “ต้องอาบัติ”

หลักปฏิบัติที่พระสมัยก่อนในเมืองไทยยึดถือก็คือ เวลาประมาณตีสี่จะตื่นขึ้นมานุ่งห่มไตรจีวรครบชุด เรียกกันว่า “ครองผ้า” เวลาดังกล่าวนี้จึงเป็นโอกาสให้ได้ไหว้พระสวดมนต์ที่เรียกว่า “ทำวัตร” และปฏิบัติจิตตภาวนาไปด้วย จนกระทั่งอรุณขึ้นเป็นวันใหม่แล้วจึงจะเปลื้องจีวรออกได้ เรียกว่า “เปลื้องครอง” และจะปฏิบัติเช่นนี้ทุกวัน กรณีที่ไปค้างแรมที่อื่นจึงต้องนำไตรจีวรไปด้วยครบสำรับ เมื่อถึงเวลาจะได้ครองผ้าตามพระวินัย

คำว่า “ครองผ้า” และ “เปลื้องครอง” นี้พระรุ่นเก่าจะรู้ความหมายกันดี

แต่ถ้าภิกษุได้กรานกฐิน (ที่เราเรียกกันว่าได้รับกฐิน) จะได้รับสิทธิพิเศษ คือ ไม่ต้องมีไตรจีวรอยู่กับตัวครบชุดทุกเช้าก็ได้ นั่นคือที่คำในอานิสงส์กฐินบอกว่า “จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ” สิทธิพิเศษข้อนี้ได้รับเป็นเวลา 5 เดือนนับจากวันออกพรรษา...อย่างไรก็ตาม สิกขาบทนี้ก็มีพุทธานุญาตผ่อนผันเพื่อไม่ให้เกิดความลำบากเกินไปในการปฏิบัติ ข้อผ่อนผันก็คือในเขตที่อยู่ด้วยกันเช่นบัดนี้คือในวัดสงฆ์ในวัดนั้นๆอาจกำหนดให้บางพื้นที่ภายในวัดเป็นพื้นที่ผ่อนผัน เมื่อภิกษุไปอยู่ในพื้นที่นั้นจนรุ่งอรุณ แม้ไม่ได้มีไตรจีวรอยู่ติดตัวครบสำรับ

คือไม่ได้ครองผ้า ก็ให้ถือว่าไม่ต้องอาบัติ พื้นที่ดังกล่าวนี้ ภาษาพระวินัยเรียกว่า “ติจีวราวิปปวาส” (ติ–จี–วะ–รา–วิบ–ปะ–วาด) แปลว่า พื้นที่ซึ่งถือว่าไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวร อีกประการหนึ่ง ภิกษุบางรูป เช่น ภิกษุอาพาธ เป็นต้น ไม่สะดวกที่จะปฏิบัติตามสิกขาบทนี้ สงฆ์อาจประกาศอนุญาตเฉพาะรายให้การไม่ครองไตรจีวรครบสำรับของภิกษุรูปนั้นไม่เป็นความผิด กรณีเช่นนี้คือที่เรียกว่า “ได้รับสมมติ”....

...

ดูก่อนภราดา! กฎเกณฑ์ของสมาคมหรือองค์กรใดๆก็ตาม... “ปฏิบัติไม่ได้ อย่าเข้าไป” “ปฏิบัติ ไม่ไหว ถอยออกมา” เฟซบุ๊ก  : “ทองย้อย แสงสินชัย”

@@@@@@

 ทำดี...ได้ดี ทำชั่ว...ได้ชั่ว คือสุภาษิตสอนใจ “ทำบุญ”...อย่าหวังสิ่งตอบแทน ทำด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์จะเป็นคุณกับตัวอย่างที่สุด

 อานิสงส์ตามที่องค์สมเด็จพระชินสีห์เทศนาไว้ คนถวายและร่วมกฐินทาน ครั้งหนึ่งจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จะปรารถนาเป็นพระอัครสาวกก็ได้ จะปรารถนาพระนิพพานซึ่งเป็นพระอรหันต์ก็ได้

และ...ยิ่งกว่านั้นไซร้ก่อนที่บรรดาผลทั้งหลายเหล่านั้นคือความเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี ความเป็น อัครสาวกก็ดี หรือพระอรหันต์ก็ดี กว่าจะมาถึง...พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า ในขณะที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มีบารมียังไม่สูงดี ยังไม่บรรลุ...มรรคผลได้

งาน “ทอดกฐิน” จึงถือเป็นงานบุญใหญ่ที่สุดงานหนึ่งที่จัดแค่ปีละครั้ง บางวัดที่มีผู้ศรัทธามากอาจจะมีคิวจองเป็นเจ้าภาพทอดกฐินล่วงหน้านับเป็นปีหรือหลายๆปี แสดงให้เห็นถึงความศรัทธา ความร่วมแรงร่วมใจที่จะสืบสานประเพณีเก่าแก่อย่างเข้มแข็ง

...

วัดบ้านผึ้ง ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ฝากบอกบุญผู้มีจิตศรัทธาเป็นกุศลทอดกฐินสามัคคี สมทบทุนผูกพัทธสีมาและตัดลูกนิมิตพระอุโบสถ วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.39 น.

วัดบ้านผึ้งแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่โบราณอายุกว่า 300 ปีล่วงมาแล้ว มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด เมื่อครั้งอดีตบริเวณแห่งนี้เป็นป่าไม้เต็มไปด้วยรังผึ้งจำนวนมากเกาะบริเวณต่างๆ พอสร้างวัดเสร็จก็ปรากฏมีฝูงผึ้งจำนวนมากได้มาทำรังอาศัยอยู่ที่หน้าพระวิหารบ้าง เกาะตามกุฏิบ้าง ชาวบ้านจึงเรียกว่า...“วัดบ้านผึ้ง”

...

“ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงดลบันดาลให้ท่านและครอบครัวประสบแต่ความสุข ความเจริญ ปราศจากทุกข์โศก โรคภัย ภยันตรายทั้งปวง... ประสงค์สิ่งใด ขอให้สำเร็จสมหวัง ตามที่ปรารถนาทุกประการเทอญ”

เชื่อศรัทธากันว่า...คนที่ทอดกฐินทานได้สักครั้งหนึ่งแล้ว “บุญ” ...“บารมี” ยังไม่ทันหมดก็เข้านิพพานก่อนได้

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

รัก-ยม

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหนือฟ้าใต้บาดาล" เพิมเติม