ชีวิตเกษตรกรทำสวนผลไม้ตะวัน ออกนั้นน่าศึกษา...ตรงพอถึงฤดูผลไม้ทีผู้บริโภคส่วนใหญ่จะรู้เพียงดราม่าหน้าฉาก ชีวิตจริงหลังเวที...ชาวสวนก็ไม่ต่างอะไรกับคนอาชีพอื่น คือมีความเชื่อและศรัทธาในมิติที่มองไม่เห็น ทว่าสัมผัสได้ด้วยจิตกับความรู้สึก
กรณีเฉกเช่น “ชาวบ้านยายดา” ชุมชนระดับหมู่บ้าน 1 ใน 16 แห่ง ขององค์การบริหารส่วนตำบลตะพง อ.แกลง จ.ระยอง ห่างเมือง 10 กิโลเมตร มีประชากรแค่ 645 คน...คนบ้านนี้เกือบ 100% ทำสวนปลูกทุเรียนราชาผลไม้ มังคุดราชินีคู่กัน แล้วลงเงาะ ลองกอง ระกำพันธุ์สุมาลี-เนินวงแถมลงกอระกำเปรี้ยวเป็นรั้วธรรมชาติไว้รอบสวนกำบังคลื่นลมพัดใส่ช่อขณะติดดอกกับช่วยป้องกันลำต้นมิให้ล้มด้วยทานแรงลมไม่ไหว
น่าสนใจว่าผลพลอยได้ก็คือเก็บลูกมาโขลกกินเป็น “น้ำพริกระกำ” ยิ่งได้กินกับข้าวสวยร้อนๆ ...อร่อยอย่าบอกใครเชียว...แน่นอนว่าทุกๆปีชาวสวนถิ่นนี้ไม่ว่ารุ่นไหนๆก็ต้องทนเหนื่อยสารพัด ไหนจะขยี้ตาตื่นแต่ไก่โห่มาเข้าน้ำ พอสายดายหญ้าใส่ปุ๋ยพ่นเคมีป้องกันศัตรูพืช จนได้ผลผลิต ...ยังเหนื่อยกับการตัดเก็บใส่ท้ายรถกระบะไปเร่ขายยังตลาดมีพ่อค้าคนกลางสุมหัวรอกดราคาต่ำติดดินอยู่ตรงนั้น...
...
“ไม่ขายก็ไม่ได้เพราะตัดมาแล้วจะเก็บกลับก็ใช่ที่ อีกอย่างเกรงข้ามคืนราคาจะตก”
ชาวสวนทุกสมัย...จึงทนก้มหน้ารับสภาพไปเพื่อเลี้ยงครอบครัวให้พอมีกินมีใช้ ได้ร่ำเรียนหนังสือหาที่ยืนในสังคม...ครั้นหวังพึ่งหน่วยงานของรัฐช่วยส่งเสริมอาชีพเกษตรกรให้ลืมตาอ้าปากก็ “ยาก”...จนบางครั้งสุดกลั้นต้องชวนกันแบกผลผลิตออกมาเทประจานมันเสียเลย
คนละแวกบ้านยายดาจึงมองว่า ...ทางออกที่ดีที่สุดเวลานั้นไม่มีทางใดจะดีกว่าการสวดมนต์ภาวนา ขอแรงหนุนนำสภาพจิตใจจากผีป่า ผีเรือน และบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วให้ช่วยคุ้มครองและห่วงใยลูกหลานเกษตรกรให้ไร้ทุกข์ห่างโศก
0 0 0 0
มนัส โพธิ์แก้ว วัย 67 ปี ทำ “สวนยายดา” บนเนื้อที่ 40 ไร่กับป้าชื่นคู่ทุกข์คู่ยาก เล่าให้ฟังว่าเกษตรกรที่นี่เป็นชาวพุทธ มีวัดยายดาอยู่คู่ชุมชนมานาน “แต่ก็เชื่อว่ามีผีป่า ผีเรือน คอยดูแลลูกหลานอยู่ตลอด ทุกปีที่ทำสวนให้ได้ผลดังใจหรือเดินทางใกล้ไกลจากเรือน มักจุดธูปบอกกล่าวขอให้คลาดแคล้วแล้วรอดปลอดภัย...เป็นการปฏิบัติที่ยึดถือกันมา”
ลุงมนัสหยิบคำบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่นให้รู้อีกว่า...แถบนี้เคยเป็นทะเลมีสำเภาจีนนำพ่อค้าเข้ามาค้าขาย แล้วเกิดประสบเหตุเรือล่มจมลงทำให้สำเภาลำนั้นเกิดปาฏิหาริย์กลายเป็น “เขาสำเภาคว่ำ” อยู่ในเขตชุมชนเขาสำเภาคว่ำ ต.กระแจะ อ.นายาย อาม จ.จันทบุรี ตามความเชื่อของคนยุคนั้น
ยังขยายเรื่องราวต่อไปอีกว่า...ท้องสำเภาที่อับปางต่างเรียกกันว่า “กะโพงเรือ” มีกะโพงนอก-กะโพงในทำให้นานๆเข้าคนยองเรียกเพี้ยนเป็น “ตะพง” ชื่อตำบลและตลาดขายผลไม้นักท่องเที่ยวจนทุกวันนี้
ตำนานกึ่งนิทานโบราณบ้านยายดาอีกฉบับเล่าไว้ว่า... “คนเฒ่าคนแก่เขาเชื่อในเรื่องที่นี่เคยมีภูเขาลูกหนึ่งตั้งอยู่กลางทะเล ต่อมาน้ำทะเลเกิดแห้งสนิทจนเหลือแต่ที่ดินบริเวณรอบๆตลอดเชิงเขา พลันกลายเป็นแผ่นดินผืนงามและกว้างใหญ่ในที่สุด”
เวลานั้น...มีกระทาชายนายหนึ่งชื่อ “พุด” เขาว่าฐานะร่ำรวยมหาศาลเป็นเจ้าของอาณาจักรริมทะเลกับท้องทะเลอันกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาของภาคตะวันออก นายคนนี้รู้ข่าวแผ่นดินที่งอกให้สนใจตามประสาคนรวย “อยากรวย” ไม่รู้จบ จึงรีบไปจองที่ดินผืนนั้นทันที... ทำให้บุพเพสันนิวาสพบคู่จิ้นสาวน้อยที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าสวนผลไม้แปลงใหญ่ทำกิน ชะตาดูเหมือนฟ้าจะลิขิตให้เคมีตรงกันระหว่างหนุ่มเศรษฐีทะเลกับสาวชาวสวนผลไม้แปลงใหญ่ในที่สุด...ทั้งคู่ก็ร่วมหอ ลงโรงอยู่กินกันจนแก่เฒ่าวัย “ตา” กับ “ยาย” ด้วยกันทั้งคู่...
...
นานวันเข้า “ตาพุด” ดูจะ “วัยกลับ” เอาแต่เที่ยวเตร่สำมะเลเทเมาไม่เป็นอันช่วยทำสวนหากินเหมือนแต่ก่อน ปล่อยให้ “ยายด่าเช่ด” ทั้งเช้า กลางวัน เย็น ในพฤติกรรมที่ไม่เป็นโล้เป็นพายของสามี
จวบกระทั่งทั้งคู่ตายจากกันลูกหลานจึงพากันตั้งฉายา “ตาพุด” ว่า “มาบตาพุด” บ่งบอกถึงผู้มาจากริมฝั่งทะเลหรือปัจจุบันก็คือนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปีกหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจสำคัญภาคตะวันออก เรียกสั้นๆว่า “อีอีซี”...ส่วน “ยายด่า” ไปๆมาๆลงตัวที่ “ยายดา” ชุมชมชาวสวนผลไม้ในยุคปัจจุบันนั่นเอง
0 0 0 0
ศรัทธาความเชื่อโลกทิพย์ชุมชนบ้านยายดาต่างรู้คุณถึงสองตายายคู่นี้ พิสูจน์ได้จากการจุดธูปบอกกล่าวขอพรไปลามาไหว้ทุกครั้ง เสมือนหนึ่ง “ตาพุด–ยายดา” เคยมีตัวตนบนโลกจริงมาก่อน
...
“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว” ลุงมนัส ย้อนความหลังให้ฟัง “หน่วยงานรัฐได้ให้งบพัฒนาท้องถิ่นมาก้อนหนึ่ง เราชาวชุมชนบ้านยายดามีความคิดว่า น่าจะเอาเงินก้อนนี้มาสร้างศาลจำลองรูปตากับยายไว้คู่กัน ตรงปากทางเข้าหมู่บ้านให้ลูกหลานได้กราบไหว้เป็นสิริมงคล”
นี่จึงเป็นที่มาของ “ศาลตายาย” บ้านยายดา โดยรูปปั้นทั้งสองสูงกว่า 2 เมตรขนาดโตเกินคนจริงเล็กน้อย ยืนอยู่ในซุ้มหลังคาสีแดงเปิดโล่งทั้ง 4 ด้าน ใช้ช่างฝีมือกำหนดรูปร่างหน้าตาท่าทางให้ “ตาพุด” ดูเป็นชาวสวนอารมณ์ดีมีสร้อยประคำคล้องคอ หาบสาแหรกคาดผ้าขาวม้าเคียนพุง ข้าง “ยายดา” ผมสั้นแบบสตรียุคโบราณสีหน้าท่าทางเคร่งเครียดจริงจัง นุ่งซิ่นลายสีฟ้าเข้มงามงดแขนคล้องกระเป๋าบอกสกุลผู้มีอันจะกินยุคนั้น
...
ส่วนพื้นที่ราบเบื้องหน้า...เป็นรูปปั้นผลไม้ไทยในสวนละแวกนี้ ที่ขาดไม่ได้คือราชาผลไม้อย่างทุเรียนและราชินีคู่คือมังคุด นอกจากนี้ยังมีเงาะ กล้วย กระท้อน ชมพู่ พืชผักสวนครัวจำพวกฟัก มะเขือชนิดต่างๆ
“พอสร้างเสร็จชาวบ้านพร้อมใจจุดธูปอัญเชิญดวงวิญญาณมาสถิตอยู่ภายในศาล โดยไม่มีเครื่องเซ่นบูชาใดๆ เพราะชาวสวนที่นี่ถือว่าทุกคนทำด้วยใจศรัทธามากกว่าการสร้างพิธีกรรมไสยศาสตร์ถวาย”
แต่จากนั้นไม่นาน...ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าบริเวณ “ศาลตายาย” มีทั้งน้ำแดง ตุ๊กตาปูนปั้น พวงมาลัยดอกไม้สด วางเต็มลานจากผู้สมหวังดังใจปรารถนานำมาถวาย ซึ่งมีทั้งลูกๆหลานๆ ภายในชุมชนไปจนถึงพ่อค้าตลาดตะพง และนับรวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนตามแรงโฆษณา...“อะเมซิ่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์”
อธิษฐานขอพรทำสวนให้ได้ผลดี ค้าขายราบรื่นร่ำรวยๆ หวังไปถึงโชคลาภ คู่ครองและบุตร
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.
รัก–ยม