เมื่อครั้งพุทธศักราช 1804-1854 “พ่อขุนมังราย” หรือ “เม็งราย” เจ้าผู้ครองโยนกเชียงแสนอาณาจักรทางเหนือคู่ “หริภุญชัย (ลำพูน)” “เขลางค์นคร (ลำปาง)” “นันทบุรีศรีนครน่าน” ต่อมา...พ่อขุนเม็งรายสามารถกำราบปราบอาณาจักรทั้งหมดอยู่หมัดภายใต้อาณาจักรล้านนา
นับแต่พุทธศตวรรษที่ 19 ได้สร้างความมั่งคั่งทางอู่อารยธรรม พร้อมย้ายที่ตั้งไปยัง “เวียงกุมกาม” ก่อนย้ายเป็นการถาวรสู่นครเชียงใหม่หรือคำเมือง “เจียงใหม่” นับแต่ปี พ.ศ.1839 ถึงปัจจุบัน
นักเลงประวัติศาสตร์เล่ากันว่า...“พ่อขุนรามคำแหง” แห่งสุโขทัย กับ “พ่อขุนงำเมือง” แห่งภูกามยาว (พะเยา) “พ่อขุนเม็งราย” แห่งล้านนา ต่างเป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานจะไม่รุกรานซึ่งกันและกัน โดยเจ้าทั้งสามนครายืนในท่าหันหลังอิงกันขณะเปล่งสัจจะวาจาดังกล่าว ณ ริมฝั่งน้ำสายหนึ่ง
ซึ่งได้ชื่อต่อมาว่า “แม่น้ำอิง” ในอาณาจักรภูกามยาวหรือพะเยานั่นเอง
...
อย่างไรก็ตาม...หากมองถึงความโดดเด่นล้านนาดูเหมือนจะเหนือกว่า 2 อาณาจักร ทั้งด้านวัฒนธรรมประเพณี และภาษา ซึ่งมี “อักษรธรรมล้านนา” หรืออักษรตัวเมือง “อักษรฝักขาม” ที่ดัดแปลงมาจากสุโขทัย และ “อักษรขอมเมือง” ด้านการเมืองการปกครอง การศาสนา และด้านศิลปกรรมอันลือเลื่องในสกุลช่าง
โดยเฉพาะประเพณีที่หลากหลายสืบสานมานานหลายสมัย เช่น ประเพณี “ยี่เป็ง” ลอยกระทงวันเพ็ญ เดือนสองของผู้คนในแผ่นดินล้านนา ที่มักคุ้นไม่แพ้คืนยี่เป็ง ได้แก่...ประเพณีสงกรานต์หรือ “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” เป็นการเปลี่ยนศักราชใหม่ตามปฏิทินโหราศาสตร์เมื่อถึง “วันสังขานต์ล่อง (สงกรานต์)” ด้วยหลักฐาน “ปักกะทืนล้านนา” คือหนังสือปีใหม่เมือง
@@@@@@
“วันสังขานต์ล่อง (สงกรานต์)” ถ้าเป็นอดีต...ขณะนั้นพ่ออุ้ยแม่อุ้ยจะเตรียมตัดช่อตุงปีใหม่หลากสีสารพัดครบสิบสองราศี ส่วนพ่อบ้านแม่เรือนจะปัดกวาดโรงเรือนหลังร้างรามือไปหนึ่งปีเต็ม นัยว่าเตรียมรับกับสิ่งแปลกใหม่จะเข้ามาในศักราชหน้าตามคติความเชื่อคนสมัยนั้น
ทว่า...ทศวรรษล่าสุดคนยุคนี้อาจเลอะเลือนสิ่งเก่าๆที่เคยเคียงคู่กับป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเมื่อหลายร้อยปีก่อน แล้วหมกมุ่นอยู่แต่นวัตกรรมใหม่ๆในบริบทสังคมถอดด้าม ที่สุด...การท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ ต้องลงทุนขุดกรุค้นตำนานเก่าจนพบและเก็บมาเล่าซ้ำเป็นคำรบสามในรอบ 3 ปี
นั่นคือกิจกรรม “ไหว้สาจุมสะหรีน้ำทิพย์เมืองเจียงใหม่”
สมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการ ททท.ด้านบริหาร เล่าให้ฟังว่า “ไหว้สา” มาจาก “ไหว้ + สาธุ” แต่คำเมืองเอิ้นสั้นไหว้สาเป็นเข้าใจกัน...พิธีกรรมครั้งนี้ได้นำน้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์ 9 แห่งในเชียงใหม่มาปลุกเสกเป็น “น้ำทิพย์” คือขุนน้ำปิง เชียงดาว, อ่างกาหลวง ดอยอินทนนท์, วัดบุพพาราม, วัดพระธาตุดอยสุเทพ, วัดผาลาด, วัดดับภัย, วัดเจดีย์เหลี่ยมที่เมืองเก่าเวียงกุมกาม, วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์, วัดพุทธเอ้น แม่แจ่ม
โดยทำพิธี “หุงน้ำ” หรือ “จุมน้ำ” ตามธรรมเนียมโบราณล้านนา เพื่อเพิ่มพลังความเข้มขลังและแฝงไว้ด้วยเวทมนตร์อันลี้ลับสลับซับซ้อน
@@@@@@
ตำนานปี๋ใหม่เมืองฉบับ “ธรรมบาลกุมาร” เล่าไว้ว่า...มีบุตรอายุ 7 ขวบของมหาเศรษฐีที่ชาญฉลาดและเรียนรู้ภาษาสัตว์ วันหนึ่งท้าวกบิลพรหมจากสวรรค์ลงมาตั้งปัญหา 3 ข้อให้ธรรมบาลกุมารตอบภายใน 7 วัน คือ “เช้า กลางวัน กลางคืน ศรีของคนอยู่ที่ไหน?”
มีข้อแม้ว่า...ถ้าตอบไม่ได้จะต้องถูกตัดหัว และถ้าตอบถูกท่านท้าวจะยอมเสียสละตัดเศียรแทน
...
หลังจากนั้น...เด็กน้อยขณะนั่งอยู่ใต้ต้นไม้พลันได้ยินเสียงนกคุยกัน “เช้าศรีอยู่ตรงใบหน้า กลางวันอยู่หน้าอก กลางคืนอยู่แทบเท้า” จึงนำปริศนาข้อนี้ไปตอบท่านท้าวเป็นผลให้ท่านผู้มาจากสวรรค์ และมีอานุภาพด้านความดุร้ายยอมเสียเศียรตามสัญญา...
ทว่า เชื่อกันว่าเมื่อเศียรหล่นใส่แผ่นดินใดที่นั่นจะถูกไฟเผาผลาญ หรือตกน้ำจะทำให้น้ำแห้งขอด และถ้าตกใส่อากาศจะแห้งแล้งฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ทำให้ลูกสาวทั้ง 7 ของท่านท้าวเกรงจะเกิดอาเพศ จึงนำเศียรไปไว้ยังเขาไกรลาส จนเมื่อครบปีก็จะนำมาแห่ในช่วงสงกรานต์ยังโลกมนุษย์ เพื่อรับรู้ถึงวันเวลาเปลี่ยนผ่านสู่ปีใหม่แล้ว
นี่คือ...ตำนานคัมภีร์ล้านนาที่เชื่ออย่างนั้น และถือเป็นวันที่พึงมีกิจกรรมต่อเนื่องกัน 7 วันตามหลักของปี๋ใหม่เมือง โดยวันแรกเป็น “วันสังขานต์ล่อง” หรือ “สังกรานต์ล่อง” ต่อมาเป็น “วันเนา” ตามด้วย “วันพญาวัน” “วันปากปี” “วันปากเดือน” “วันปากวัน” และ “วันปากยาม”
...
แต่กับการรื้อฟื้น “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” ปก “ไหว้สาจุมสะหรีน้ำทิพย์” นั้นเริ่มตั้งแต่ 31 มีนาคม ประกอบพิธีหุงน้ำทิพย์ 10 เมษายน พร้อมเสนองานหัตถศิลป์อัตลักษณ์แห่งแผ่นดินด้วยการเชิญ “สล่า” ผู้ชำนาญการชั้นครูมาออกแบบ “น้ำต้น” หรือ “คนโท 9 ลาย”
เพื่อบรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 9 แหล่ง และบรรจุขวดอีกจำนวน 10,727 ขวด ที่บ่งบอกถึงอายุ 727 ปีเจียงใหม่ แล้วแจกจ่ายไปยังนักท่องเที่ยวผู้มาร่วมงานเพื่อกลับไปจะได้สักการะเป็นมงคลแห่งปีต่อไป
วันรุ่งขึ้นคือ 11 เมษายนเป็นวันแห่ขบวน “ไหว้สาจุมสะหรีปี๋ใหม่เมือง” นำโดยพ่อเมืองเชียงใหม่คนล่าสุด และรองผู้ว่าการ ททท.ด้านบริหาร กับผู้ร่วมขบวนอีก 300 คน จากข่วงอนุสาวรีย์สาม กษัตริย์ไปยังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ราชวรวิหาร
และนำน้ำทิพย์ไปใช้ในขบวนแห่กับสรงน้ำพระพุทธสิหิงห์ในวันสังขานต์ล่อง 13 เมษายน... อันเป็นวันรื่นเริงมหากุศลขจัดโรคร้ายที่คุกคาม และเกาะกินนครพิงค์เชียงใหม่ให้หมดสิ้นไปเสียที
“นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ศูนย์กลางแห่ง “อาณาจักรล้านนา” ครองความรุ่งเรืองศิวิไลซ์มาร่วม 727 ปีถึงวันนี้ แม้จะมีอาถรรพณ์มนตร์ดำครอบงำอยู่บ้าง ก็ถือเป็นเศษสิ่งปฏิกูลให้กวาดบ้านถูเรือนแก้มนตร์ สาธุ...“ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” นี้
เป็นแก่นแท้ที่เกิดจาก “ศรัทธา” ชาวล้านนาราว ปาฏิหาริย์
...
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่ออย่างไรก็อย่าได้...“ลบหลู่”.
รัก-ยม