ทำความรู้จัก "ปฏิทินล้านนา 2566" ซึ่งเป็นปฏิทินดูฤกษ์มงคลตามเดือนพื้นเมืองของคนภาคเหนือ เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำสิ่งมงคลต่างๆ โดยทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการเผยแพร่ปฏิทินล้านนา ประจำปี 2566 มื้อจั๋นวันดี เพื่อให้ผู้สนใจและประชาชนทั่วไปดาวน์โหลดไปใช้งานฟรี

รู้จัก "ปฏิทินล้านนา 2566" คืออะไร?

ปฏิทินล้านนา คือ ปฏิทินพื้นเมืองของภาคเหนือ สะท้อนถึงความเชื่อเรื่องวันมงคลและฤกษ์งามยามดี ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติที่คนล้านนาจำนวนมากยึดถือปฏิบัติสืบต่อมากันมา ไม่ว่าจะเริ่มประกอบกิจการใด เช่น วันบวช วันแต่งงาน วันขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ ก็มักจะเลือกวันมงคลที่เหมาะสม เพื่อช่วยเสริมขวัญและกำลังใจ ทำการสิ่งใดก็ราบรื่นนั่นเอง

ปฏิทินล้านนา 2566 มื้อจั๋นวันดี หมายถึงอะไร?

คำว่า "มื้อจั๋นวันดี" เป็นภาษาถิ่นของภาคเหนือ แปลว่า "ฤกษ์งามยามดี" โดยในปฏิทินล้านนา 2566 มื้อจั๋นวันดี ก็จะเป็นการระบุวันมงคลและกาลกิณีของแต่ละเดือน ทั้งหมด 12 เดือน เพื่อให้ได้หาฤกษ์หายามในการทำพิธีและกิจกรรมต่างๆ

...

ม.เชียงใหม่ แจกปฏิทินล้านนา 2566 ให้ ปชช. ดาวน์โหลดฟรี 

การนับวันและระบุฤกษ์งามยามดีตามปฏิทินล้านนาแบบดั้งเดิม ถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อน ทางสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ทำการเผยแพร่ไฟล์ปฏิทินล้านนา 2566 ของทั้ง 12 เดือนตลอดทั้งปี ซึ่งคำนวณและเรียบเรียงขึ้นโดย อาจารย์สนั่น ธรรมธิ ให้ผู้สนใจและประชาชนทั่วไป สามารถดาวน์โหลดไปใช้ประโยชน์ได้ฟรี

ตัวอย่าง ปฏิทินล้านนา 2566 ประจำเดือนเมษายน (ที่มาของภาพ : สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ตัวอย่าง ปฏิทินล้านนา 2566 ประจำเดือนเมษายน (ที่มาของภาพ : สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

นอกจากปฏิทินล้านนาจะระบุวันมงคล-กาลกิณีแล้ว ยังมีข้อมูลของ "คำทำนายวันไท" เพื่อระบุว่าวันใดควรทำพิธีหรือกิจกรรมใดตามความเชื่อของคนล้านนา ยกตัวอย่างเช่น

วันกาบใจ้ : วันดี เป็นสิริมงคล
วันกดใจ้ : ควรไปค้าขาย
วันเปิกสี : ควรหมั้นหมาย
วันเปิกใจ้ : ควรสักหมึก ลงยันต์
วันเต่าสี : ควรปลูกพืช
วันกาบสะง้า : ควรสร้างยุ้งข้าว
วันดับเป้า : อย่าเดินทางค้าขาย
วันดับใส้ : อย่าแต่งงานเด็ดขาด
วันกัดเป้า : อย่าต่อสู้คดีความ
วันก่าเม็ด : อย่าซื้ออาวุธ
วันรวายใจ้ : อย่าออกตรวจราชการ

ทั้งนี้ ปฏิทินล้านนา 2566 ถือเป็นโหราศาสตร์ฉบับล้านนา หนึ่งในวัฒนธรรมของชาวเหนือ ที่สะท้อนความเชื่อท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต เช่นเดียวกับคนไทยที่มี "ปฏิทินจันทรคติไทย" หรือคนจีนที่มี "ปฏิทินจันทรคติจีน" ซึ่งจะมีวิธีการดูฤกษ์งามยามดีที่แตกต่างกันออกไปตามวัฒนธรรมและความเชื่อท้องถิ่น