เรื่องราวอันเป็นที่มาของ “พระสังกัจจายน์”... ในบาลีท่านชื่อ “กัจจายนะ” เป็นบุตรพราหมณ์ปุโรหิต กรุงอุชเชนี รูปงาม ผิวเหลืองเหมือนทองคำ เมื่อบวชแล้วเทศน์ได้ไพเราะ น้องๆพระพุทธเจ้า มีพ่อยก แม่ยกติดตามกันมาก
พ่อยกหนึ่งเป็นเศรษฐี ชื่อโสเรยยะ เห็นท่านแล้วจิตอกุศลอยากให้ท่านเป็นเมียด้วยอานุภาพพระอรหันต์ โสเรยยะกลายเป็นผู้หญิง เกิดความอายหนีไปแต่งงานมีผัวมีลูกที่เมืองอื่นหลายปีกลับมาสารภาพกับท่าน เมื่อท่านให้อภัยก็กลับเป็นผู้ชายเหมือนเดิม
พระกัจจายนะ...รู้สึกผิด ที่ความหล่อเป็นต้นเหตุ ท่านจึงอธิษฐานให้รูปร่างเปลี่ยนไปกลายเป็นเตี้ยอ้วน พุงพลุ้ย จากมิติพระพุงพลุ้ยเปลี่ยนไปสู่มิติยกมือปิดตาปิดทวาร...เป็นที่มาของการสร้าง “พระปิดตา” พระปิดทวารทั้งเก้า หลายสำนักในเมืองไทย
“พระกัจจายนะ” เป็นพระอัครสาวก องค์ที่ชาวพุทธเถรวาท สร้างรูปเคารพเอาไว้... มากกว่าพระสาวกรุ่นเดียวกันและเป็นหนึ่งใน 18 อรหันต์ ที่มีคนไปกราบไหว้ขอลาภผลของชาวพุทธมหายาน
...
“คะเซ็นเน็น (Kasennen)”...เป็นนามที่ญี่ปุ่นเรียก “พระอรหันต์” ผู้เป็นอสิติมหาสาวก ในศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้ารูปหนึ่งที่มี ลักษณ์อ้วนพุงพลุ้ย อันหมายถึง...ความอุดมสมบูรณ์ด้วยโชคลาภ
แต่...จีนมีคติความเชื่อว่าเป็นนิรมาณกายของพระโพธิสัตว์ (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่จะมาจุติเป็นพระพุทธเจ้าต่อจากพระพุทธโคตม ได้แบ่งภาคมาโลกมนุษย์ จึงแปลงตัวมาในร่างของพระสงฆ์ นาม...ซีฉื่อ สำหรับในบ้านเราเรียกพระอรหันต์ องค์นี้ว่า... “พระสังกัจจายน์”
ตำนานพุทธสาวกบันทึกไว้ว่า พระพุทธองค์มีอยู่ 80 องค์ ที่เป็นเอตทัคคะมีเพียง 41 องค์ และในจำนวนนี้ มีการจำลองรูปมาบูชากันเพียง 3 องค์ คือ...พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรและพระสังกัจจายน์
0 0 0 0
“พระสังกัจจายน์”...มีร่างกายผิวพรรณงดงามมาก พระภิกษุ เทวดา มนุษย์ทั้งหลายเห็นพระเถระเดินมาแต่ไกลก็บอกกันว่า “พระบรมศาสดาของพวกเราเสด็จมาแล้ว” พากันเคารพกราบไหว้...
ด้วยเห็นว่ารูปลักษณ์คล้ายพระผู้มีพระภาคจึงได้อธิษฐานเนรมิตร่างให้ย่นย่อ ต่ำเตี้ย ท้องป่องหมดความสวยงาม ด้วยความศรัทธาจีนแผ่นดินใหญ่นิยมสร้างองค์พระสังกัจจายน์ ประดิษฐานตามศาสนสถานทั่วไป ส่วนจะเนิ่นนานแค่ไหนนั้นไม่มีบันทึกไว้...
แต่ก็พอที่จะคาดเดาถึงกาลได้จากเครื่องเคลือบกังสมัยเซ็งเตาปังโคย กังไสนั้นมีรูปพระสังกัจจายน์เป็นจำนวนมาก
สำหรับแผ่นดินสยามนั้นมีการขุดพบพร้อมกับพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน...ครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ 1 มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งหนึ่ง ณ ฝั่งธนบุรี ก็ขุดพบประติมากรรมพระสังกัจจายน์กับหอยสังข์ กระจายอยู่ทั่วบริเวณ อันเป็นนามของวัดในปัจจุบัน
และ...เมื่อปี 2461 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ริมคลองท่าว่า ชาวจีนอพยพกลุ่มหนึ่งขุดทรายที่คุ้งน้ำวังฆ้องเจอองค์พระสังกัจจายน์ ปรากฏการณ์ครั้งนั้นชุมชนหมู่ 8 ตำบลสวนแตงและวัดได้เปลี่ยนนามให้เรียกพ้องกับพระสังกัจจายน์ ซึ่งเป็นเถระ ว่า...สังฆจายเถร
“วัดสังฆจายเถร”...เดิมนามว่า “วัดวังฆ้อง” เชื่อว่าสร้างในสมัยอู่ทอง มีเจดีย์ทรงปรางค์ (ปัจจุบันกรมศิลปากรลงทะเบียนเป็นโบราณสถาน) ยืนยันเป็นหลักฐาน
...
ด้วยความเก่าแก่และเนิ่นนานศาสนสถานแห่งนี้มีการปล่อยให้ทิ้งร้างและบูรณปฏิสังขรณ์กันมาหลายครั้ง ล่าสุดล่วงเข้าสมัยพระพุทธ เจ้าหลวงฯจึงได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาอีกครั้งโดยมีพระสงฆ์จำวัดสืบต่อกันมา...วัดก็ยังใช้นามเดิม
เมื่อมีการขุดพบพระสังกัจจายน์ จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดตามชุมชน
0 0 0 0
“พระสังกัจจายน์”...เป็นพระโพธิสัตว์ตามความเชื่อของพุทธศาสนามหายาน เป็นพระอรหันต์ที่มีพุงพลุ้ย คนสมัยก่อนมีความเชื่อศรัทธากันว่า...หากได้ลูบหน้าท้องของพระสังกัจจายน์จะทำให้ได้บุตร ดังนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่ วัด ศาลเจ้า ที่ประดิษฐานรูปเคารพพระสังกัจจายน์
อีกทั้ง “พระมหากัจจายนะ” หรือนิยมเรียกกันว่า “พระสังกัจจายน์โพธิสัตว์”...พระพุทธรูปที่มีลักษณะอ้วนพลุ้ย เปลือยอก ใบหน้ายิ้ม ร่าเริงสดใสอยู่ตลอดเวลา ใบหูยาวจดบ่านั้นยังเป็นสัญลักษณ์แห่ง...ความสุขสมหวัง ผู้เลื่อมใสศรัทธามุ่งหวังกราบไหว้เพื่อให้เกิดสิริมงคลกับตัว 3 ประการด้วยกัน นั่นก็คือ
...
ประการที่หนึ่ง...ในเรื่องโชคลาภ และความอุดมสมบูรณ์ เชื่อว่าได้รับการยกย่องให้เป็นพระผู้อุดมไปด้วยโภคทรัพย์ ประการที่สอง...ในด้านสติปัญญา เชื่อกันว่าเป็นเลิศในการอธิบายความพุทธภาษิต เพราะท่านเป็นผู้มีปฏิภาณเฉียบแหลม
ประการสุดท้าย...ความงามและความมีเสน่ห์ ด้วยว่าท่านมีผิวสีเหมือนทองคำและมีรูปร่างคล้ายพระพุทธเจ้า จนเหล่าเทพ เทวดา พากันรักใคร่ชื่นชม
แวะเวียนผ่านไปที่ “วัดหลวง” ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย บรรยากาศสงบเย็นร่มรื่น ด้วยมีอาณาบริเวณติดชิดริมแม่น้ำโขง มีโอกาสได้เข้าไปกราบสักการะขอพรพระสังกัจจายน์เก่าแก่ภายใน
คาถาบูชาพระสังกัจจายน์ “กัจจานะจะมหาเถโร พุทโธ พุทธานัง พุทธะตัง พุทธัญจะ พุทธะสุภา สิตัง พุทธะตังสะ มะนุปปัตโต พุทธะโชตัง นะมามิหัง ปิโยเทวะ มะนุสสานัง
...ปิโยพรหม นะมุตตะโม ปิโยนาคะ สุปันนานัง ปิยินทะริยัง นะมามิหัง สัพเพชะนา พะหูชะนา ปุริโสชะนา อิถีชะนา ราชาภาคินิจิตตัง อาคัจฉาหิ ปิยังมะมะ”
...
ปิดท้ายด้วยคำไหว้พระมหาสังกัจจายน์ตั้งนะโม 3 จบ อิมินาสักกาเรนะ สาวะกะสังโฆ กัจจายะนะเถโร มหาเตชะวันโต พุทธะโภคาวะโห ปาระมิตาโร อิทธิ ฤทธิ ติตะ มะณะตัง สะระณัง คัจฉามิ
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.
รัก-ยม