เทศกาลตรุษจีนมาถึงทีไร นอกจากชุดแดง ชุดกี่เพ้าแล้ว สาวๆ ยังมองหาพร็อพถ่ายรูปอื่นๆ ที่ถือคู่กับการแต่งกายแบบชาวจีน โดยช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ถือว่ามีความสำคัญเหมาะสมแก่การไปเยี่ยมหาลูกค้า ไหว้ผู้ใหญ่ ถ้ายกกระเช้าปีใหม่จะต้องรู้ว่ามีแพ็กเกจจิ้งมงคล ที่เรียกว่า “ฮวยน้า” หรือ “ตะกร้าสานไม้ไผ่” สวยๆ แบบนี้ด้วย
“ฮวยน้า” คืออะไร ประวัติความเป็นมา เป็นมากกว่าพร็อพถ่ายรูป
ถ้าย้อนไปหลายปีก่อนจะเห็นภาพดาราสวมชุดแดง ถือตะกร้าสานไม้ไผ่ทาสีแดง จริงๆ แล้วสิ่งนี้ไม่ใช่กระเป๋า แต่เป็นภาชนะไว้ใส่อาหาร ขนม หรือของไหว้มงคลที่ชาวไทยเชื้อสายจีนมักจะใช้ใส่อาหารไปไหว้ศาลเจ้าที่ศาล หรือจัดเป็นชุดสวยๆ มอบให้กับผู้ใหญ่เสมือนกระเช้าปีใหม่แบบสากลของฝรั่ง
ที่มาของการใช้ตะกร้าสานไม้ไผ่ในเมืองไทย มีบันทึกไว้จากงานเทกระจาดศาลเจ้า จ.จันทบุรี โดยผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยเห็นการใช้ตะกร้าฮวยน้านี้ เล่าว่า สมัยก่อนเมื่อต้องเรี่ยไรเงินเพื่อมาใช้ในงานประเพณีทิ้งกระจาด ทางผู้จัดงานก็จะถือตะกร้านี้เดินไปตามบ้าน ใครที่เห็นกรรมการถือฮวยน้ามาก็จะรู้แล้วว่าใกล้เข้าสู่เทศกาลประจำปี
...
ฮวยน้า มีความหมายตรงตัวว่า ตะกร้าดอกไม้ ผู้ที่วาดลวดลายบนผิวตะกร้าจึงใช้รูปดอกไม้มงคลสีสันสดใส ตะกร้านี้มีฝาปิด มีหูหิ้ว แข็งแรงมิดชิด จึงเหมาะจะใช้เก็บเงิน และเก็บของอื่นๆ แทนกระเป๋าของคนสมัยก่อน
แต่ตะกร้าสานไม้ไผ่ที่ชาวจีนนิยมใช้ไม่ได้มีแค่แบบเดียว ยังมีใบเล็กๆ อีกสองแบบที่ไว้ใส่อาหาร หรือเรียกเป็นปิ่นโตก็ว่าได้
“เสี่ยหนา” ตะกร้ามงคล หรือ ปิ่นโตจีน
เว็บไซต์กรมศิลปากรเผยแพร่ข้อมูลข้าวของเครื่องใช้ของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อพยพมาในจังหวัดร้อยเอ็ด เล่าถึงอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เสี่ยหนา” หรือปิ่นโตแบบจีน ลักษณะเป็นเถาปิ่นโตที่ใส่อาหารมงคลของชาวฮกเกี้ยน ตัวตะกร้าเป็นไม้ไผ่สานลงรักสีดำ แดง ทอง และมีหูจับ ใช้สำหรับใส่อาหารมงคล เป็นส่วนหนึ่งของของหมั้นที่ฝ่ายชายนำไปสู่ขอเจ้าสาวกันทีเดียว
และมีเครื่องใช้อีกชิ้น เรียกว่า “ฉีน้า” แม้ว่าจะลงท้ายด้วย น้า เหมือนกัน แต่ก็เป็นตะกร้าที่ไว้ใส่เสื้อผ้า หรือของใช้ส่วนตัวเวลาเดินทางมาจากประเทศจีน ปัจจุบันไม่น่าจะมีให้เห็นกันแล้ว คนจีนสมัยก่อนที่จะอพยพมาจะเลือกใช้ตะกร้าไม้ไผ่สานเป็นกระเป๋าเดินทางและเก็บของสำคัญ หูจับทำจากโลหะ ด้านในมีตะกร้าใบเล็กย่อยๆ ที่ถอดออกจากตัวตะกร้าใบใหญ่ได้ และมีห่วงไว้สำหรับสอดคานหามขณะเดินทาง
ปัจจุบันบ้านไหนที่มี “ฉีน้า” เก็บไว้อยู่ ก็จงนำมาเก็บรักษาไว้ให้ดี เป็นเครื่องเตือนใจว่าครั้งหนึ่งบรรพบุรุษของเราได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อมาตั้งรกรากในแผ่นดินไทย และในเทศกาลตรุษจีนทุกปี หลายบ้านก็เลือกนำตะกร้าไม้ไผ่สาน “ฮวยน้า” ออกมาใช้ ทั้งหมดนี้คือที่มาของตะกร้าสานจีนที่เป็นมากกว่าพร็อพถ่ายรูป
ถ้าใครสนใจอยากมีตะกร้าฮวยน้าไว้สักใบ มีจำหน่ายในราคาใบละ 1,000-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของตะกร้า ลองเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่นี่
ภาพจากร้าน Meezoplus จ.ภูเก็ต
ที่มา : ข้าวของเครื่องใช้ชาวจีนที่อพยพเข้ามาในจังหวัดร้อยเอ็ด (ฮวยน้า ฉีน้า เสี่ยหนา), เว็บไซต์กรมศิลปากร