วันขึ้นปีใหม่ 2566 ตรงกับวันที่ 1 มกราคม ถือเป็นวันปีใหม่ตามสากล จากแต่เดิมที่วันขึ้นปีใหม่ไทยตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย ก่อนวันขึ้นปีใหม่จะมาเป็นวันที่ 1 มกราคมนี้ มาอ่านประวัติวันขึ้นปีใหม่ไปพร้อมๆ กัน

ประวัติวันขึ้นปีใหม่

ตามบันทึกในอดีตพบว่าชาวบาบิโลน เป็นผู้ใช้ปฏิทินมาแล้วกว่า 4,000 ปี ด้วยการศึกษาดวงจันทร์ เมื่อโลกโคจรรอบดวงจันทร์ครบ 1 ปี จะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 12 เดือน แต่อย่างไรก็ดีมีบางปีที่ไม่ตรงกับฤดูกาลที่เปลี่ยนไป

ภายหลังชนชาติอื่นที่คิดค้นการใช้ปฏิทิน ก็กำหนดชื่อเดือนทั้ง 12 และได้ศึกษาระยะเวลาของแต่ละวัน ชาวยุโรปที่เดินทางรอบโลกมักใช้ปฏิทินเกรกอเรียน (Gregorian calendar) เพื่ออ้างอิงวัน เดือน ปี ตามหลักสากล

เมื่อครั้งเกิดลัทธิล่าอาณานิคม ความนิยมนับวัน เดือน ปี แบบยุโรป ก็เข้าสู่วัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ ที่เป็นเมืองขึ้น การนับวันขึ้นปีใหม่ของประเทศต่างๆ จึงอ้างอิงตามหลักประเทศสากล เพื่อให้เกิดการจดบันทึกที่ตรงกัน วันขึ้นปีใหม่ หรือวันแรกของปีนั้นจึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของทุกชนชาติ

...

ประวัติวันขึ้นปีใหม่ไทย

ประวัติวันขึ้นปีใหม่ไทย แต่เดิมคนไทยใช้วันขึ้นปีใหม่ที่ตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน อ้าย ตรงกับเดือนมกราคมช่วงฤดูหนาว และเมื่อมีวัฒนธรรมความเชื่อของชาวพราหมณ์ฮินดูเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิ ก็มีการปรับวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 หรือตรงกับวันสงกรานต์นั่นเอง

ภายหลังคนไทยได้ถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ กระทั่งปัจจุบันเองชาวบ้านต่างจังหวัดก็ยังคงใช้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่วันสงกรานต์ของแต่ละปีเมื่อนับตามจันทรคติมักไม่ตรงกันกับวันทางสุริยคติ

พ.ศ. 2432 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างชาติเดินทางมาทำการค้าขายในสยามมากขึ้น พระองค์ท่านได้ศึกษาวิทยาศาสตร์หลายแขนง และได้ดำริโปรดเกล้าฯ ถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย เพื่อให้ทุกปี สยามจะได้นับวันเดือนปีทางสุริยคติได้ตรงกับต่างชาติ

วันขึ้นปีใหม่ไทย 1 เมษายน ได้ปรับเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม ในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 สมัยคณะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีมติให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ไทยมาเป็นวันที่ 1 มกราคม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่สากลเช่นเดียวกับประเทศอื่นในโลก ประกาศเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลที่ 8

กิจกรรมวันขึ้นปีใหม่

กิจกรรมวันขึ้นปีใหม่ 2566 เนื่องจากคนไทยยังคือคติการปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่เช่นเดียวกับวันขึ้นปีใหม่ที่ตรงกับวันสงกรานต์ในอดีต จึงนิยมทำบุญ ตักบาตร และร่วมทำกิจกรรมสาธารณกุศล รวมถึงเตรียมอาหารเพื่อฉลองกันในครอบครัว หรือ องค์กร เพื่อให้เป็นมงคลต่อการเริ่มต้นปีใหม่ ดังนี้

1. ปฏิบัติพิธีกรรมตามศาสนาของตน
2. ประดับบ้านเรือนให้สวยงาม เพื่อเริ่มต้นปีใหม่
3. จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ จับฉลาก มอบของขวัญปีใหม่
4. เดินทางมอบกระเช้าของขวัญให้กับลูกค้า หรือผู้มีอุปการคุณ
5. ขอพรจากผู้ใหญ่ในครอบครัว เดินทางไปเยี่ยม หรือติดต่อพูดคุย

นอกจากนี้ห้างร้านต่างๆ ยังจัดโปรโมชันขายสินค้า เพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่ อย่างไรก็ดี วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2566 ยังเป็นวันเริ่มต้นกิจกรรม “ช้อปดีมีคืน” ในวันที่ 1 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2566 ใครที่ซื้อสินค้าจากร้านที่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ ก็อย่าลืมนำเลขบัตรประชาชนให้ทางร้านออกใบเสร็จ เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี พ.ศ. 2566