คลองโอ่งอ่างปัจจุบันเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ในรูปแบบของตลาดคลองโอ่งอ่าง อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนพากันมาพายเรือ นั่งร้านอาหาร คาเฟ่ หรือถ่ายรูปกับ Street Art แต่ในอดีต คลองโอ่งอ่างมีที่มาที่เปลี่ยนไปทุกยุคทุกสมัย มาดูกันว่าคลองโอ่งอ่าง มีประวัติและที่มาอย่างไร

ประวัติ “คลองโอ่งอ่าง” เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

คลองโอ่งอ่างเป็นชุมชนชาวต่างชาติที่มาใช้ที่ดินบริเวณนอกกำแพงวังอยู่อาศัย คลองโอ่งอ่างมีประวัติที่มาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองจากวัดสังเวชวิศยารามไปทางตะวันออกเฉียงใต้ มายังวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) มีระยะทางประมาณ 750 เมตร

คลองโอ่งอ่าง เป็นชื่อเรียกลำลองจากชาวบ้านที่มองเห็นภาชนะดินเผาที่ชาวจีนนำมาค้าขายบริเวณคลองนี้มากมาย ส่วนชื่อต่อมาชาวบ้านเรียกว่า “สะพานหัน” เพราะมีสะพานไม้ที่หันหลบเรือค้าขาย และเป็นสะพานที่เดินทางของชาวบ้านและชาววังที่เดินทางเข้าประตูเมืองใกล้เคียง

...

ร้านรวงที่ค้าขายย่านสะพานหัน เป็นชุมชนชาวจีนและชาวแขก อยู่ร่วมกันมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างวังของเจ้านายบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ วังของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, วังบูรพาภิรมย์ ของกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และวังของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปรีดา

“สะพานหัน” เป็นชื่อเรียกสะพานตามไม้กระดานที่จับหันไปหันมาได้ ชักหลบเรือสินค้าที่มีหลังคาสูง ชื่อคลองโอ่งอ่าง บันทึกอยู่ในพระราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2451 ภายหลังมีการสร้างทางเท้า จัดระเบียบตึกแถวร้านค้า ภายหลังมีพ่อค้าแม่ค้ามาจับจองตั้งร้านอาหาร เพื่อรองรับคนกรุงเทพฯ ที่เดินทางมาดูละครที่โรงภาพยนตร์ ณ บริเวณใกล้เคียง

คลองโอ่งอ่างเป็นเส้นแบ่งระหว่างเขตสัมพันธวงศ์และเขตพระนคร

คลองโอ่งอ่างปัจจุบัน ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง

คลองโอ่งอ่างยุคต้นรัตนโกสินทร์ เป็นทางผ่านของเรือพาย สองข้างฝั่งขายสินค้าประเภทเครื่องดินเผา โอ่ง ไห อ่าง ตามชื่อเรียกของสินค้า ยุคต่อมาเป็นการค้าขายอาหารและสินค้าที่นำเข้ามาจากจีน และอินเดีย เช่น ผ้ายกพับในตลาดพาหุรัด

ภาพคนขี่รถมอเตอร์ไซค์เวสป้ามีพับผ้ามัดเรียงอยู่ด้านท้าย ซึ่งเป็นภาพที่พบเห็นบ่อยๆ จากชาวแขกที่ไปส่งผ้าพับ และกลายเป็นงานศิลปะฝาท่อ 1 ใน 5 ฝาท่อสำหรับเช็กอินถ่ายรูปศิลปะกับชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง

“สะพานเหล็ก” ขายของเล่น

ในยุคหนึ่งคลองโอ่งอ่างเป็นที่รู้จักในชื่อ “สะพานเหล็ก” มีร้านค้ารับของเล่นมาจากต่างประเทศ เช่น เครื่องเล่นเกม ของเล่น ที่มีร้านค้ากว่า 500 ร้าน แบ่งซอยอาคารตั้งแผงขายอย่างแออัด แม้จะเป็นถนนริมคลอง แต่ก็หนาแน่นด้วยผู้คน

ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง มีวันไหน

ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง มีวันเสาร์และอาทิตย์ และมีร้านอาหารจีนและอาหารอินเดีย รอรับนักท่องเที่ยวอยู่

คลองโอ่งอ่างเดินทางอย่างไร

การเดินทางมายังคลองโอ่งอ่าง เดินทางมาได้ด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน (หรือรถไฟฟ้ามหานคร) สายสีน้ำเงิน ลงสถานีสามยอด มีระยะเดินทาง 100 เมตร

การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว
ที่จอดรถใกล้คลองโอ่งอ่าง จอดรถได้ที่
- ศูนย์การค้าดิ โอลด์ สยาม (18.00 - 24.00 น.) ระยะทางเดินมายังคลองโอ่งอ่าง 300 เมตร (มีค่าจอด)
- โรงแรมแกรนด์ เดอ วิลล์ (มีค่าจอด)

...

การเดินทางโดยรถประจำทางมายังคลองโอ่งอ่าง รถเมล์สาย 1, 21, 82, 53, 43

ที่มา : เว็บไซต์สำนักงานเขตพระนคร, เพจถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง Ong-Ang street walk