โฉมใหม่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สร้างความว้าว! ด้วยภาพลักษณ์ที่ทันสมัยสวยงดงาม แต่ยังแฝงด้วยศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะผลงานศิลปะใหญ่ชิ้นใหม่ในรูปแบบของผ้าทอขนาดสูงกว่า 6 เมตร ยาว 25 เมตรที่โดดเด่นสะดุดตาวางเรียงประดับบนผนังระหว่างทางเดินของชั้น LG ซึ่งศิลปินผู้สร้างสรรค์งาน คือ “มุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ MookV (มุกวี) และเจ้าของบริษัท บียอนด์ ลิฟวิ่ง จำกัด ศิลปินผู้ออกแบบลายผ้าที่มีชื่อเสียงของไทย ได้สะท้อนคุณค่าความงดงามแบบไทยร่วมสมัยผ่านลวดลายบนผืนผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดเรื่องศิลปะโขน โดยได้รังสรรค์ออกมาเป็นผลงาน 2 ชิ้นงาน จากการตีความหมายของคำว่า สืบสาน (Inherit) รักษา (Preserve) และต่อยอด (Continue) สู่ผลงาน การสร้างสรรค์บนพื้นผ้าในชื่อ Woven Symphony และ Adam’s Bridge ในรูปแบบของผ้าทอขนาดสูงกว่า 6 เมตรครึ่ง ยาว 25 เมตร ซึ่งเป็นผลงานที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับศูนย์ การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่
...
มุก-เพลินจันทร์ เปิดเผยถึงการรังสรรค์งานนี้ว่า ได้รับโจทย์การทำงานมา 3 คำ คือ สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อออกแบบให้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่แห่งนี้ ซึ่งศูนย์ฯสิริกิติ์นั้นเป็นชื่อพระราชทานโดยพระมหากรุณาธิคุณใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ซึ่งพระองค์ท่าน ‘สืบสาน’ ศิลปะโขนมาตลอด จึงกลายเป็นไอเดียสำคัญสำหรับการออกแบบผลงานในชื่อว่า Woven Symphony และ Adam’s Bridge โดยงานทั้งสองชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นใหญ่ที่สุดที่เคยทำ เมื่อรวมกันมีขนาดเท่ากับสระน้ำมาตรฐานโอลิมปิก แต่ละชิ้นงานสูง 6 เมตรครึ่ง ยาว 25 เมตร งานนี้เป็นงานที่ควรใช้เวลาทำจริงถึงปีครึ่ง แต่ด้วยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทำให้งานสำเร็จได้ในเวลาทำงานเพียง 58 วัน
สำหรับผลงานชิ้นแรก “โวเว่น ซิมโฟนี” มีแรงบันดาลใจจากชุดการแสดงโขน นำมาทำให้เป็นศิลปะร่วมสมัยที่ผสานกับฉากวรรณคดีรามเกียรติ์ ตอนที่นางสีดาถูกทศกัณฐ์จับตัวไปบนเกาะลงกา มาแสดงไว้บนฉากหลังสีเขียวเสมือนอยู่บนเกาะ พร้อมเนรมิตให้เป็นฉากรบพุ่งที่หนุมานพาพระรามมาช่วยนางสีดาหนีเพื่อการมีชีวิตใหม่ เปรียบเหมือนศูนย์ฯสิริกิติ์ในรูปโฉมใหม่ ซึ่งการทำงานชิ้นนี้ เหมือนการทำดนตรี 1 วง ประกอบด้วยคนเก่งหลายด้านมีอาจารย์และนักศึกษาจาก ม.ธรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ม.อุบลราชธานี ม.สงขลานครินทร์ และ ease.studio มาร่วมกันทำ โดยตนจะเป็นผู้กำกับมองภาพใหญ่ทั้งหมด แบ่งงานแล้วทำแพตเทิร์นขนาดเท่าของจริงให้แต่ละมหาวิทยาลัย แยกร่างกันทำ ดูงานผ่านทางไลน์ จากนั้นนำทุกส่วนมาต่อรวมกัน ซึ่งงานแต่ละชิ้นต่างมีเอกลักษณ์ของแต่ละคน อาจมีการปรับแต่งเพื่อให้ทุกชิ้นงานรวมกันอย่างลงตัว ซึ่งตนภูมิใจมากกับงานชิ้นนี้ที่เป็นการร่วมมือกัน เพราะปัจจุบันการทำงานคนเดียวไม่รอดแน่นอน รายละเอียดของงานตนได้รับแรงบันดาลใจจากชุดโขน และเครื่องประดับจากชุดนางรำจริง แต่แยกหลายส่วนมาใช้ รวมทั้งยังมีปีกแมลงทับและรังไหม
ศิลปินคนเก่งคนนี้ อธิบายต่อว่า ส่วนงานศิลปะชิ้นกลางที่ตีความคำว่า “รักษา” คืองานแกะสลักไม้เป็นงานประติมากรรมประดับผนังด้วยไม้จำหลักนูนต่ำนูนสูงและกึ่งลอยตัว ผลงานการแกะสลักมาจากไม้ประดู่ของอาจารย์จรูญ มาถนอม ใช้ไม้ทั้งหมด 56 แผ่นประกอบกันออกมาแล้วมีความยาวเกือบ 23 เมตร เล่าเรื่องการสถาปนาพระอินทร์ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองทวยเทพ ในพระราชพิธีอินทราภิเษกที่ทำขึ้นตั้งแต่เปิดศูนย์ฯสิริกิติ์ ในปี 2534 ส่วนผลงานชิ้นสุดท้าย “ต่อยอด” ตนได้พยายามทำให้เชื่อมกับชิ้นงานชิ้นกลาง เป็นผลงานชื่อ อดัมส์ บริดจ์ ที่มีฉากหลังสีน้ำเงิน จัดเป็นฉากที่หนุมานขนหินมาถมทะเล เพื่อทำเป็นสะพานพานางสีดาไปสู่ชีวิตใหม่ บนฉากสีน้ำเงินผ่านการถักทอจากสิ่งของเหลือใช้รวมถึงเศษขยะที่ตนและครอบครัว รวมถึงพนักงานช่างทอผ้าของบริษัทเก็บมาเป็นเวลาหลายปี ทั้งกระป๋อง และขวดน้ำพลาสติก ถูกนำมาตัดเป็นเส้นแล้วถักทอ ซึ่งผ้าทุกผืนที่นำมาทำทั้ง 2 ชิ้นงานนี้มาจากผ้าเหลือใช้ที่รวบรวมมาจากโปรเจกต์ต่างๆก่อนหน้านี้ เพื่อให้เข้ากับแนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” สร้างสมดุลที่ดีเพื่อโลกที่ดีกว่า พร้อมกันนี้ยังเล่าว่า ตอนที่ตนมีโอกาสได้นำชมและอธิบายถึงงานชิ้นนี้ต่อ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงชอบและสนพระทัย ทรงจดบันทึก ทั้งยังมีตรัสว่า “ทำจากขยะเหรอ พระองค์มีเสื้อยืด ที่ทำจากขยะมาทอเป็นผ้าเหมือนกัน” นำความปลาบปลื้มให้แก่ตนเองอย่างมาก.
...