งานเผาเทียนเล่นไฟ สุโขทัย 2565 เป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีลอยกระทง จัดขึ้นทุกปีที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย เริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. มีจนถึง 8 พ.ย. 2565 นี้

งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัย มีประวัติที่มาอย่างไร

งานประเพณีเผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย เป็นงานที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ภาพการจุดประทีป และการทำกระทงสายลอยในแม่น้ำ ประชันความสวยงามของกระทง และประกวดขบวนแห่กระทง ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศ

ประเพณีลอยกระทงที่จังหวัดสุโขทัย มีบันทึกอยู่ในจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในด้านที่ 2 บรรทัดที่ 8-23 กล่าวถึงอัตลักษณ์วิถีของชาวสุโขทัยที่ปฏิบัติในช่วงเทศกาลลอยกระทง ทางจังหวัดสุโขทัยจึงรื้อฟื้นประเพณีให้เหมือนกับ 700 กว่าปีที่แล้ว โดยกำหนดวันจัดงานเป็นเลขคี่ ครอบคลุมวันเพ็ญเดือนสิบสอง ที่ตรงกับวันลอยกระทง

การจัดงานกิจกรรมเผาเทียนเล่นไฟ ที่หน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 โดยใช้พื้นที่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งตรงกับแหล่งโบราณที่เคยจัดกิจกรรมนี้เมื่อ 700 ปีที่แล้ว และในปี พ.ศ. 2534 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้รับการพิจารณาจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UN) ให้เป็นมรดกโลก จึงยิ่งเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

...

กิจกรรมงานเผาเทียนเล่นไฟ สุโขทัย

ระยะเวลาการจัดงานเผาเทียนเล่นไฟ อาจใช้เวลา 3, 5, 7 หรือ 9 วัน และปี พ.ศ. 2561 ถือว่ามีระยะเวลาจัดงานมากที่สุดคือ 10 วัน ส่วนใหญ่นิยมเป็นเลขคี่ โดยกิจกรรมต่างๆ ที่นิยมจัดทุกปี มีดังนี้

1. พิธีรับรุ่งอรุณแห่งความสุข

พิธีรับรุ่งอรุณแห่งความสุข เป็นพิธีตักบาตรรับอรุณ จัดที่อุโบสถวัดตระพังเงิน โดยประชาชนและข้าราชการ พ่อค้า รัฐวิสาหกิจ ร่วมกันตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง ตั้งแต่เวลา 05.30-07.00 น. ตักบาตรพระสงฆ์ 9 รูป ในวันแรกของเทศกาลลอยกระทง

2. พิธีบวงสรวงบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าสุโขทัย

พิธีบวงสรวงบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าสุโขทัยทุกพระองค์ จัดขึ้น ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในวันแรกของวันงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ โดยประธานถวายเครื่องบวงสรวง และถวายพวงมาลัยคล้องพระแสง มีการแสดงนาฏศิลป์รำ หรือ ระบำสุโขทัย ด้วยผู้แสดง 200-700 คน เป็นพิธีที่สวยงาม อลังการ

3. ขบวนแห่กระทง

ขบวนแห่กระทงเผาเทียน เล่นไฟ แต่ละขบวนจัดแสดงนางนพมาศซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ทำกระทงคนแรก ล้อกับเรื่องราวในอดีต และมีโคมชัก โคมแขวน สวยงาม ขบวนแห่มาจาก 4 ฝั่งของประตูเมือง ได้แก่

  • ทิศเหนือ ประตูหลวง
  • ทิศใต้ ประตูนะโม
  • ทิศตะวันออก ประตูกำแพงหัก
  • ทิศตะวันตก ประตูอ้อ

4. ขวัญข้าว วันเล่นไฟ

การทำขวัญข้าว วันเล่นไฟ ทำในก่อนวันลอยกระทง 1 วัน โดยเป็นการรับประทานอาหารร่วมกันของผู้มาร่วมงานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ที่จังหวัดสุโขทัย หน้าวัดมหาธาตุ ชวนกันรับประทานอาหารพื้นบ้านของสุโขทัย ชมการแสดง แสง สี เสียง ตระการตา

5. การแสดงแสงสีเสียง

การแสดงแสง สี เสียง ในงานลอยกระทงสุโขทัย จัดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2526 นำเทคนิคการใช้แสงไฟแสดงยามค่ำคืนมาบรรยายเรื่องราวตามธีมต่างๆ ของงาน ณ ลานกลางแจ้ง และโบราณสถานต่างๆ

6. เผาเทียน เล่นไฟ

การเล่นเผาเทียน เล่นไฟ คือกิจกรรมหลังเสร็จงานกฐินของชาวสุโขทัย ประชาชนเดินทางกลับเข้าเมืองผ่านประตูทั้งสี่ เพื่อมาดูการเผาเทียนเล่นไฟ ซึ่งหมายถึงการจุดพลุเฉลิมฉลอง เป็นแสงสว่างบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือนั่นเอง

งานเผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย เป็นประเพณีที่สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม มีการปรับเปลี่ยนเทคนิคการจัดแสดงให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อความสนุกสนาน และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาร่วมสัมผัสบรรยากาศดั้งเดิมของขาวสุโขทัยช่วงปลายปี

ที่มา เว็บไซต์สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย