นางนพมาศลอยกระทง กลายเป็นอีกหนึ่งภาพจำของวันลอยกระทงในทุกๆ ปี รวมถึงการจัดประกวดแข่งขันนางนพมาศที่มีสีสันไม่น้อยไปกว่ากิจกรรมอื่นๆ แต่เคยสงสัยกันไหมว่า นางนพมาศคือใคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เหตุใดจึงเป็นชื่อที่ถูกยกให้มีบทบาทสำคัญในวันลอยกระทง บทความนี้ ไทยรัฐออนไลน์นำสาระน่ารู้มาฝากกัน

ทำความรู้จัก "นางนพมาศ" คือใคร?

นางนพมาศ คือ ผู้หญิงที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าประวัติวันลอยกระทง แต่ก็ยังไม่มีความแน่ชัดว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ เพราะประวัตินางนพมาศจะเป็นในลักษณะตำนานกึ่งเรื่องเล่า โดยเชื่อว่านางนพมาศเป็นกุลสตรีที่เพียบพร้อม ดำรงตำแหน่งสนมของพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย และเป็นผู้มีบทบาทในการคิดประดิษฐ์กระทง ซึ่งกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ประวัตินางนพมาศ ในวันลอยกระทง 2566 มีความเป็นมาอย่างไร?

นางนพมาศ เกิดในตระกูลพราหมณ์สมัยสุโขทัย เป็นธิดาของพระศรีมโหสถและนางเรวดี ร่ำลือกันว่านางนพมาศเป็นหญิงสาวที่มีความงดงาม มีความรอบรู้ในด้านต่างๆ ทั้งด้านอักษรศาสตร์ มีความรู้ด้านการเรือน-การช่างของกุลสตรี มีความสามารถด้านการขับร้อง เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบตามฉบับสตรีผู้มีการศึกษาในยุคสมัยนั้น 

...

จนกระทั่งนางนพมาศได้เข้ารับราชการในสมัยพระยาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ 1) และเป็นที่โปรดปรานจนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นสนมเอก รู้จักกันในนาม "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" เป็นผู้ประดิษฐ์โคมลอยประทีปและแต่งหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เพื่อใช้เป็นหลักปฏิบัติตนของนางกำนัลในวัง จึงได้รับสมญานามว่าเป็นกวีหญิงคนแรกของไทย

สำหรับบทบาทสำคัญของนางนพมาศตลอดการรับราชการในสุโขทัย ยกตัวอย่างดังนี้

1. ประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกบัว ตกแต่งด้วยวัสดุธรรมชาติและดอกไม้สีสันสวยงาม เพื่อใช้ในพระราชพิธีลอยพระประทีป ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของ "กระทง" ในเวลาต่อมา จึงเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระยาลิไท

2. ประดิษฐ์พานหมากสองชั้นร้อยกรอง ตกแต่งด้วยดอกไม้มงคลอย่างงดงาม เพื่อใช้เป็นเครื่องหมากพลูในพิธีชุมนุมข้าราชการทุกหัวเมือง ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นแบบของ "พานขันหมาก" ในพิธีแต่งงานในปัจจุบัน

3. ประดิษฐ์พนมดอกไม้และกอบัวสำหรับถวายพระยาลิไท เพื่อทรงใช้บูชาพระรัตนตรัยในพิธีเข้าพรรษา และทำให้ความนิยมถวาย "กอบัว" เป็นพุทธบูชาเริ่มแพร่หลาย

ข้อสงสัยนักประวัติศาสตร์ "นางนพมาศ" มีตัวตนจริงหรือไม่?

แม้ว่าเรื่องราวประวัตินางนพมาศจะถูกเล่าสืบต่อกันมานาน และทำให้นางนพมาศถูกรู้จักในฐานะสตรีที่มีบทบาทต่อการให้กำเนิดการประดิษฐ์กระทง แต่ในขณะเดียวกันก็มีนักประวัติศาสตร์ที่แสดงความเห็นว่า เรื่องราวของ "นางนพมาศ" อาจเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือย้อนกลับไปราว 200 ปีเท่านั้น 

เหตุผลที่ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อการมีตัวตนของนางนพมาศ เนื่องจากมีข้อสังเกตว่า ภาษาโวหารที่ใช้ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่ถูกอ้างว่าแต่งขึ้นในสมัยสุโขทัยนั้น มีความแตกต่างจากภาษาที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วงและศิลาจารึกหลักที่ 1 จึงทำให้เป็นที่สงสัยว่าหากเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยจริง เหตุใดจึงมีภาษาที่ดูราวกับเป็นของใหม่ เช่น การกล่าวถึงชนชาติต่างๆ ที่อาจยังไม่ได้เข้ามาติดต่อกับสุโขทัยในยุคนั้น

ในขณะที่อีกฝ่ายเชื่อว่าหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นของเก่าจริง แต่อาจมีการปรับปรุงและแต่งเนื้อหาเพิ่มเข้าไปในราวสมัยรัชกาลที่ 2-3 เนื่องจากของเดิมอาจชำรุดและขาดหายไป จึงจำเป็นต้องทำการซ่อมแซมหน้าเนื้อหาขึ้นมาใหม่บ้าง แต่ก็ยังคงยึดต้นฉบับไว้เป็นหลัก

...

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน "นางนพมาศ" ได้กลายเป็นตัวแทนของสตรีที่มีความงดงามทั้งกิริยา วาจา และใจ จึงเป็นที่นิยมจัดประกวดนางนพมาศในวันลอยกระทง โดยให้สตรีสวมชุดนางนพมาศและทำทรงผมนางนพมาศ ซึ่งมีทั้งประกวดหนูน้อยนพมาศ หรือนางนพมาศผู้สูงอายุหญิง-ชาย กลายเป็นอีกหนึ่งสีสันคู่กับวันลอยกระทง 2566