“โขน” เป็น “นาฏกรรม” โบราณมีมาเมื่อใดไม่อาจยืนยันได้ แต่ในวรรณคดี “ลิลิตพระลอ” บอกว่า... “ขยายโรงโขนโรงรำ ทำระทาราวเทียน”...ส่วนคำว่า “โขน” น่าจะมาจากภาษาเบงคาลีคือ “โขละ” หรือ “โขล” และ “โขฬะ” หมายถึงเครื่องดนตรีฮินดูคล้าย ตะโพนไทย

แต่ภาษา “ทมิฬ” เรียก “โกล” หรือ “โกลัม” แปลว่า “แต่งให้ดูสวยงาม”... ส่วน “โขนไทย” เป็นมหรสพหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยาใช้แสดงในพระราชพิธีสำคัญๆของกษัตริย์ไทย ปัจจุบันได้อนุรักษ์ไว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติจนถึงยุคนี้... “โขน” จะแสดงเรื่อง “รามเกียรติ์” มีพระราม พระลักษมณ์ ทศกัณฐ์ หนุมาน พลลิงกับพลยักษ์ ผู้แสดงต่างแต่งองค์ทรงเครื่องดูเฉิดฉาย...แต่สิ่งหนึ่งสามารถสื่อลักษณะนิสัยตัวละครให้คนดูคล้อยตามได้...นั่นคือ “หัวโขน” สีสันลวดลายงดงามอยู่เหนือศีรษะผู้แสดง

ประดิษฐ์โดยสกุลช่างผู้มีทักษะหลายเชิงชั้นในตัวคนเดียวกัน อาทิ ช่างปั้น ช่างหุ่น ช่างกลึง ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างรัก ช่างทอง และช่างเขียน เพราะงานหัตถศิลป์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับวิชาช่างเหล่านี้

...

เหนืออื่นใด...ทุกคนต้องมี “ครู” ผู้ประสิทธิ์ ประสาทวิชาให้ และ “ครู” ผู้สถิต ณ ต่างภพต่างมิติ และนิยมใช้ฤกษ์พฤหัสบดี “วันพระใหญ่” สักการบูชาด้วยผลไม้ 3 ชนิดตามฤดูกาล พร้อมน้ำดื่มสะอาด เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อการสร้างสรรค์งาน

@@@@@@

ท่ามกลางความลี้ลับแห่งเสน่ห์มนตราศิลปะโบราณที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา จึงศึกษาศาสตร์แขนงดังกล่าวและผนวกเข้าไว้กับ “1 ใน 10 สวนสวยของโลก” ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับมนุษย์ทุกวัย...เป็นที่มาของ “พิพิธภัณฑ์หัวโขนสวนนงนุชพัทยา” ที่เริ่มต้นปี 2560

อาจารย์พรหมมินทร์ สุมานา วัย 59 ปี ผู้เชี่ยวชาญงานหัตถกรรมศิลป์ ช่าง 10 หมู่ จากวิทยาลัยในวังศาลายารับผิดชอบ มีทีมงานผ่านการเรียนรู้วิธีการทำหัวโขน 10 คนร่วมงาน และครูผู้ชำนาญเฉพาะด้านการประดิษฐ์หัวโขน เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก้ไข ถึงวันนี้มีหัวโขน 586 เศียร...แต่คนไทยรู้จักเพียงพระลักษมณ์ พระราม ทศกัณฐ์ หนุมาน หรือตัวเด่นๆในเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น

ยกตัวอย่างบางส่วนให้เห็น เช่น ทศกัณฐ์หน้าทอง, มโหทร, เปาวนาสูร, ภัทรจักร, จิตรการ, หิรันตยักษ์, มหัลลกอสุราวตาร...พระลักษมณ์เดินดง, นางสีดา, ไกยเกษี พลลิงกลุ่มหนุมาน มีนิลเกศี, ทวิพัท, จิตตุเสน กลุ่มพ่อแก่ฤษี มีฤษีชาวาลี, ฤษีบรมโกฏิ, ฤษีหิมพานต์, ฤษีสิงขรณ์ และอีกมากมาย

อาจารย์พรหมินทร์เล่าให้ฟังว่า งานนี้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ละเอียดอ่อน อีกทั้งเป็นเครื่องสูงที่พึงปฏิบัติให้ถูกตามจารีตโบราณ
มิฉะนั้นจะเกิดอัปมงคลกับตัวเองและหมู่ญาติได้...อีก อย่างห้องจัดแสดงต้องรักษาตามธรรมเนียมเก่า ที่ว่ามีทวารบาลคือ “ผู้เฝ้าประตู” หรือ “นายประตู”

...

หรือ “อมนุษย์และทวยเทพเทวดาที่บานประตู” ก็ว่าได้ ประกอบอยู่ทางทิศทั้งสี่คือหน้าสองหลังสอง และการบูชา ก็ต้องไหว้ให้ครบทั้งสี่ทิศเหมือนๆกัน

“อาคารห้องแสดงทั้งหลังจงรู้ไว้ด้วยว่า จะมีห้องน้ำห้องชำระแฝงอยู่ภายในไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะถือเป็นสิ่งอับโชคสำหรับหัวโขนซึ่งล้วนมีครูครอบอยู่ และครูจะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรงโดยไม่รู้ตัวทันที”

ในตอนเช้าของวันที่ย้ายหัวโขน 586 เศียรเข้าสู่ห้องจัดแสดง นอกจากโกลาหลพอสมควรแม้จะทำพิธีบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง บนเนินเขาบันไดกฤษทางทิศตะวันออกสวนนงนุชแล้วก็ตาม...แต่ช่วงหนึ่งพลันเกิดเหตุมหัศจรรย์เกินที่ใครในเหตุการณ์จะคาดคิด...อยู่ๆ ลุงรักษาความปลอดภัยมีหนวดรุงรังเล็กน้อย เห็นเดินตรงรี่ไปหยุดยืนตรงหน้าพ่อแก่ฤษี บ่นพึมพำชื่อพ่อแก่แต่ละองค์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำก่อนจะกลับออกไป

ทำเอาคนประสบเหตุถึงกับตะลึงงัน และเชื่อ ต่อมาว่า...น่าจะเป็นพ่อแก่ฤษีที่อาศัยร่างลุงคนนั้น เข้ามารับรู้การจัดสถานที่ประดิษฐานหัวโขน ซึ่ง เป็นสื่อบ่งบอกถึงสัญลักษณ์นาฏกรรมและศิลป กรรมไทยอย่างแน่นอน...สาธุ! สาธุ! สาธุ!

...

@@@@@@

การจัดพื้นที่แสดง “หัวโขน” นั้นสำคัญ จะต้อง คำนึงถึงสิ่งอันควรเคารพคืออยู่ในที่สูงกว่าพื้นทางเดินและป้องกันการร่วงหล่นลงสู่พื้นราบ ระวังมิให้สัตว์หรือแมลงทุกชนิดรบกวน ด้วยเป็นการให้ความ เคารพต่อครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ดังนั้น...การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ จึงระมัดระวังเรื่องนี้

พร้อมทั้งยังต้องมีการรวบรวมหมวดหมู่พร้อมเรื่องราวความเป็นมาแต่ละเศียรให้ผู้สนใจศึกษา โดยได้จำแนกเป็นกลุ่ม...เริ่มจากกลุ่มอนุรักษ์รูปแบบการประดิษฐ์หัวโขน เช่น โบราณที่ใช้ต้นแบบ ปูนปั้นติดกระดาษสาก่อนเขียนลายตกแต่ง...แต่วิธีนี้ต้องเสียเวลานาน 1 เดือนจึงจะได้ 1 เศียร

ต่อมา...เป็นกลุ่มพระฤษีหรือพ่อแก่ที่ศิลปินทุกรุ่นนับถือบูชา เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและการแสดงในแต่ละครั้ง...กลุ่มสุดท้าย 383 เศียรเป็นกลุ่มที่มาจากชุดแสดงเรื่อง “รามเกียรติ์”

ตั้งแต่ “นนทก” ยักษ์รับใช้พระอิศวร ผู้เฝ้า ประตูและล้างเท้าเทวดาทุกองค์ก่อนเข้าเฝ้า กระทั่ง ยักษ์จอมเกเรรายนี้ตายแล้วเกิดใหม่เป็น “ทศกัณฐ์” ทำศึกยกรบกับ “พระราม” ไม่รู้จบ

...

ที่ผ่านมา...ผู้เข้าชมส่วนใหญ่คือเหล่าศิลปินแวดวงนาฏกรรมไทยกับคณะครูและศิษย์ที่ร่ำเรียนวิชานาฏศิลป์ไทยจากทั่วประเทศ แต่ละคณะที่เข้าชม... เป็นที่น่าสังเกตว่า ต่างอยู่ในอาการสุขุมสำรวมนับแต่ก้าวแรกที่ก้าวผ่านทวารบาล...จนเมื่อจบการศึกษาเยี่ยมชมทุกคนสารภาพความจริงเป็นเสียงเดียวกันว่า...

“ตลอดเวลาขนลุกซู่เหมือนอยู่บนเวทีแสดงไม่มีผิด!”

นี่ไม่ใช่ ... “อิทธิฤทธิ์” หรือ “ปาฏิหาริย์” หากแต่เป็น “ความเชื่อ” ที่เกิดจาก “ศรัทธา” จน นำมาซึ่งความรู้สึกระทึก ตื่นเต้น อัศจรรย์ใจอย่างบอกไม่ถูก...

สำหรับผลงานที่น่าภูมิใจแทนคนไทยนี้ ขอกล่าวนามผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ได้แก่ อาจารย์ธนธรณ์ คุงจำรัส กับ อาจารย์ภาคภูมิ ศรีโพธิ์ ผู้ชำนาญการงานหัตถกรรมศิลป์ ช่าง 10 หมู่ จาก วิทยาลัยในวังศาลายา...ส่วนหนึ่งได้ผ่านพิธีบวงสรวง เบิกพระเนตรจากครูที่มีวิชาอาคมด้านนาฏศิลป์โดยเฉพาะเรียบร้อยแล้ว จึงนับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บรรดาสานุศิษย์ผู้ผ่านพิธีครอบครูมาแล้วจะนับถือศรัทธา เพราะจัดเป็นเครื่องสูงที่ควรบูชา

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

รัก-ยม