“พิธีสืบชะตา” หรือ “พิธีการต่ออายุ”... ศรัทธาเชื่อกันว่าเป็นพิธีที่ทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น อีกทั้งกระทำกันเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต มีชีวิตที่มีความสุข ปราศจากทุกข์ โรคภัยไข้เจ็บ นับรวมไปถึงมีความเจริญยิ่งๆขึ้นไป
“ประเพณีสืบชะตาคน” นับเป็นประเพณีมงคลสำคัญอย่างหนึ่งของชาวภาคเหนือที่นิยมทำกันในหลายโอกาส เช่น เนื่องในวันเกิด วันได้รับยศศักดิ์ตำแหน่ง
นับรวมไปถึง...เนื่องในวันขึ้นบ้านใหม่ กุฏิใหม่ หรือไปอยู่ที่ใหม่ บางครั้งเมื่อหมอดูทายทักว่าชะตาไม่ดี ชะตาขาดควรจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์และสืบชะตาต่ออายุเสีย...จะทำให้แคล้วคลาดต่อโรคภัย ปลอดภัย อยู่ด้วยความสวัสดีต่อไป
สำหรับสถานที่จัดทำพิธีจะต้องทำในห้องโถง หากเป็นวัดก็จะทำในวิหารหรือที่ “หน้าวาง”...ห้องรับแขกของเจ้าอาวาส ถ้าเป็นบ้านก็จะจัดทำ “บนติ๋น” คือรับแขก ซึ่งต้องใช้ห้องกว้างให้เพียงพอรับแขกที่มาร่วมงาน... บางครั้งนอกจากญาติแล้วก็ยังมีผู้สนิทสนมคุ้นเคยมาร่วมด้วย
...
หากเป็นวัดก็จะมีพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายที่มาร่วมงาน
ยกตัวอย่าง “ประเพณีสืบชะตาบ้าน” บ้านที่อยู่อาศัยทางภาคเหนือเกิดขึ้นจากการตั้งของชุมชนมีอายุเท่านั้นเท่านี้ เช่นตั้งมาเมื่อปีมะแมพุทธศักราช 2400 หากนับมาถึงปัจจุบันก็เป็นร้อยปีล่วงมาแล้ว
ความเชื่อของคนส่วนมากคิดว่าบ้านที่ตั้งมาตามฤกษ์ยามวันดีเสียนั้นประสบความเดือดร้อนเจ็บป่วยกันไปทั่วหน้า ในกรณีที่มีคนตายติดๆกันในบ้านเกินกว่า 3 คนขึ้นไป ในเวลาไล่เลี่ยกัน ชาวบ้านถือว่า...“อุบาทว์ตกลงสู่บ้าน” ชาวบ้านจึงนำเรื่อง “ขัดบ้าน ขัดเรือน” ร่วมกันทำพิธีขจัดปัดเป่า
เรียกว่า...“สืบชะตาบ้าน”
อีกประการหนึ่ง...ปีใหม่สงกรานต์ล่วงไประยะเวลาวันปากปี ปากเดือน ปากวัน ได้แก่วันที่ 16, 17, 18 เมษายน ชาวบ้านจะกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งสืบชะตาบ้านเพื่อให้เกิดความสามัคคีแก่ตนเอง ลูกหลานภายในบ้านตนเอง... น่าสนใจว่า “ป๋าเวณีสืบชะตา” สามารถทำได้ทุกเดือนไม่เฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
@@@@@@
ความเชื่อการสืบชะตานี้เป็นตำนานปรากฏในคัมภีร์ชะตาที่กล่าวไว้ว่า “พระสารีบุตรเถระ” อัครสาวกพระพุทธเจ้ามีสามเฌรองค์หนึ่งชื่อว่า “ติสสะ” อายุ 7 ปี มาบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนเป็นระยะเวลาหนึ่ง...มีอยู่วันหนึ่งพระสารีบุตรสังเกตเห็นว่าจะมีอายุได้อีก 7 วันเท่านั้น...จะถึงแก่มรณภาพ
พระสารีบุตรท่านจึงได้เรียกสามเณรมาบอกความจริงให้ทราบว่า...ตามตำราหมอดูและตำราลักษณะเธอจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 7 วัน ดังนั้น...ให้เธอกลับไปล่ำลาโยมพ่อโยมแม่และญาติๆ
เมื่อรู้ดังนั้น สามเณรก็มีความเศร้าโศกเสียใจอย่างมาก ร้องไห้อย่างน่าสงสาร ครั้นนมัสการท่านอาจารย์แล้วได้เดินทางกลับบ้านด้วยดวงหน้าอันหม่นหมอง ทว่าขณะที่สามเณรเดินทางระหว่างกลับนั้นได้พบปลาน้อยในสระน้ำที่กำลังแห้งเขิน...เห็นเจ้าปลากำลังดิ้นทุรนทุรายเพราะน้ำแห้งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
...
สามเณรน้อยจึงรำพันว่า...เออ!เรานี่จะตายภายใน 7 วัน ปลานี้หากไม่มีน้ำจะตายในวันนี้แล้ว อย่ากระนั้นเลย...ถึงเราจะตายก็ควรโปรดสัตว์หรือปลาเหล่านี้ให้พ้นจากความตายเถิด
คิดได้ดังนั้น จึงช้อนปลาใหญ่น้อยทั้งหมดไว้ในภาชนะ คือ...บาตร นำไปปล่อยที่แม่น้ำใหญ่ ไม่เพียงเท่านี้ในระหว่างทางสามเณรยังได้พบอีเก้งถูกแร้วนายพราน...ก็ปล่อยเก้งอีก เมื่อไปถึงบ้านได้เล่าเรื่องราวที่กำลังจะตายให้ทุกคนได้รับรู้ ต่างก็เสียใจยิ่งนัก...แล้วทุกคนก็ต่างรอเวลาที่เณรจะมรณภาพด้วยหัวใจเศร้าสร้อย
กำหนดหนึ่งวัน...สองวันตามลำดับจนล่วงเลยกำหนดไป 7 วันแล้ว สามเณรก็ยังไม่ตาย หากกลับมีผิวพรรณผ่องใสยิ่งขึ้น ญาติจึงบอกให้กลับไปหาพระอาจารย์ เมื่อไปถึงพระสารีบุตรมีความประหลาดใจถึงกับเผาตำราทิ้ง
ได้จังหวะสามเณรก็ได้เล่าเรื่องราวที่ทำเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปล่อยปลา ปล่อยอีเก้ง...การกระทำเพื่อยืดชีวิตสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จึงเป็น “บุญกรรม”...เป็นพลังให้พ้นจาก “ความตาย”
ด้วยตำนานข้างต้นนี้เอง... ทำให้ชาวบ้านภาคเหนือนิยมทำพิธีสืบชะตามาจนถึงทุกวันนี้...
...
@@@@@@
พิธี “สืบชะตา” นิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป หรือมากกว่านั้น เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ปู่อาจารย์นำไหว้พระอาราธนาศีล พระสงฆ์ผู้เป็นประธานให้ศีลแล้วปู่อาจารย์อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์ชุมนุมเทวดานำสวดมนต์สืบชะตาแบบภาคเหนือ ซึ่งมีคำสวดโดยเฉพาะหลายบท
อาทิ ชินบัญชร สวดสืบชะตา มงคลจักรวาลน้อย และคำสวดทั่วไป ขณะที่พระสวดนั้น “ผู้สืบชะตา” และลูกหลานจะเข้าไปอยู่ใน “ซุ้มสืบชะตา” นั่งประนมมือฟังพระสวดพระพุทธมนต์จนจบ ตอนถึง “เอเสวนา จะพาลานัง” ผู้สืบชะตาจะต้องจุดเทียนชัยหรือเทียนน้ำมนต์ด้วย
หลังจากสวดจบเจ้าภาพจะจัดให้มีเทศน์ 1 กัณฑ์ เช่น คัมภีร์สารากริ คัมภีร์โลกวุฒิ หลังจากเทศน์จบแล้วจะมีการผูกมือให้กับผู้สืบชะตา พระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์ให้ จากนั้นเจ้าภาพถวายภัตตาหาร ไทยทานที่เตรียมไว้แด่พระสงฆ์...เป็นอันเสร็จพิธี
ถ้าหากทำ “พิธีสืบชะตาบ้าน” แบบขับไล่อุบาทว์จะต้องเทศน์คัมภีร์อรินทุม คัมภีร์มหาตันติงด้วยประชาชนจะเอาด้ายสวดมนต์ซึ่งเรียกกันแบบภาคเหนือว่า “ฝ้ายหลวง” มาขอให้พระสงฆ์ผูกมือ ผูกขวัญให้ และอวยชัย ให้พร เพื่อความสุขสวัสดีตลอดทั้งปี
...
การสืบชะตาบ้านปีหนึ่งจะทำหนหนึ่ง หากไม่ทำระหว่างสงกรานต์ก็จะทำเดือนใดเดือนหนึ่งก่อนเข้าพรรษา บางแห่งนิยมให้ชาวบ้านนำเสื้อผ้ามาร่วมพิธีด้วย การพรมน้ำมนต์ถือเป็นสิริมงคล...สืบชะตาบ้านเป็นงานสำคัญที่ชาวบ้านจะต้องมาร่วมกันช่วยกันทุกบ้านทุกเรือน เอาเงินมารวมกันจัดตามฐานะ...ศรัทธาแต่ละคน
นอกจากเงินแล้วยังเอาข้าวสาร พริก เกลือ อาหารสดมาร่วมกันทำอาหารเลี้ยงพระหรือบางแห่งตกลงเอาอาหารที่ปรุงจากบ้านไปช่วยกันเลี้ยงพระ สุดแท้จะหาได้ตามมีตามเกิด...เป็นงานสามัคคีมวลชนที่มีพลัง
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.
รัก-ยม