รู้จักตุ๊กตา “ดารุมะ” ที่มาของชื่อร้านดารุมะ ซูชิ ร้านบุฟเฟต์ที่เป็นข่าวดังในขณะนี้ ว่ามีที่มาอย่างไร พร้อมความหมายที่น่าสนใจตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น
ที่มาของตุ๊กตา ดารุมะ
ตุ๊กตาดารุมะ (Daruma) เป็นตุ๊กตาล้มลุกของญี่ปุ่น มีลักษณะทรงกลม ไม่มีแขนขา ทำจากไม้ที่ภายในมีความกลวง ภายนอกทาด้วยสีแดง จุดเด่นคือไม่มีตาทั้ง 2 ข้าง แต่มาพร้อมคิ้วและหนวดเคราดกดำ ที่ซ่อนความหมายเอาไว้มากมาย เพราะญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าการเขียนดวงตาให้ดารุมะเป็นการขอพรอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นตุ๊กตานำโชค เพราะเป็นตุ๊กตาล้มลุกที่ไม่ว่าจะผลักกี่ครั้งก็ตั้งกลับขึ้นมาได้เสมอ จึงเป็นเครื่องหมายของความพยายามและความสำเร็จ แม้ว่าดารุมะส่วนใหญ่จะมีสีแดง แต่ก็ยังมีสีอื่นๆ และความหมายแตกต่างกันไปอีกด้วย เช่น
- สีม่วง หมายถึงชีวิตที่ยืนยาว
- สีเขียว หมายถึงสุขภาพ
- สีเหลือง หมายถึงชื่อเสียง
- สีทอง หมายถึงเงินทอง
- สีขาว หมายถึงการศึกษา เล่าเรียน
และยังมีสีอื่นๆ อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับสถานที่ผลิตประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่วนบริเวณคางของตุ๊กตาดารุมะจะมีการเขียนคำอวยพรเอาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นความหมายด้านบวก เช่น โชคดี สุขภาพดี สอบผ่าน ชัยชนะ เป็นต้น
ความหมายของตุ๊กตาดารุมะ
นอกจากรูปทรงและสีของตุ๊กตาดารุมะที่มีความหมายแล้ว ส่วนต่างๆ บนใบหน้าก็ยังซุกซ่อนความหมายไว้ด้วยเช่นกัน
- ขนคิ้วของตุ๊กตาดารุมะเปรียบเสมือน “นกกระเรียน”
- หนวดเคราเปรียบเสมือน “กระดองเต่า”
ความหมายของนกกระเรียนและเต่าคือ การมีชีวิตที่ยืนยาว ทำให้ตุ๊กตาดารุมะเป็นเหมือนตัวแทนแห่งความโชคดี และสงบสุข
...
สำหรับที่มาของสีแดงบนตุ๊กตาดารุมะนั้น มาจากความเชื่อในอดีตที่พระโพธิธรรมทรงสวมจีวรที่มีสีแดง จึงทาสีตัวลำตัวดารุมะให้เป็นสีแดง และตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น มองว่าสีแดงจะช่วยขับไล่ภูตผีปีศาจ และโรคร้ายต่างๆ ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนญี่ปุ่นนิยมให้ตุ๊กตาดารุมะเป็นของขวัญแก่เด็กๆ เพราะเชื่อว่าจะทำให้เด็กๆ แข็งแรง และปลอดภัยจากเคราะห์ร้าย
วิธีขอพรจากตุ๊กตาดารุมะ
สาเหตุที่ตุ๊กตาดารุมะไม่มีลูกตาดำตั้งแต่แรกก็เพื่อให้เจ้าของตุ๊กตาเป็นผู้วาดเอง ซึ่งการวาดดวงตาของตุ๊กตาดารุมะคือวิธีการขอพรอย่างหนึ่ง โดยใช้หมึกดำวาดจากข้างขวาก่อน 1 ข้าง พร้อมอธิษฐานขอพรในสิ่งที่หวังให้เป็นจริง เมื่อพรที่ขอประสบผลสำเร็จก็มาวาดตาข้างซ้ายเติมลงไป จากนั้นให้นำตุ๊กตาดารุมะที่มีดวงตาครบทั้ง 2 ข้าง มาวางไว้บนที่สูง ซึ่งคนญี่ปุ่นมักจะวางไว้บนหิ้งบูชา และหันตุ๊กตาดารุมะไปทางทิศใต้ เมื่อครบหนึ่งปี ตุ๊กตาดารุมะจะหมดวาระหน้าที่ และควรนำไปทิ้งไม่ว่าพรจะสมปรารถนาหรือไม่ ด้วยการส่งคืนให้กับศาลเจ้า หรือนำไปเผาในเทศกาลที่จัดขึ้นโดยเฉพาะ ไม่ควรทิ้งลงถังขยะเพราะตุ๊กตาดารุมะเปรียบเสมือนของสูงของคนญี่ปุ่น สำหรับใครที่ไม่สะดวกเดินทางนำตุ๊กตาดารุมะไปทำลายด้วยตนเอง ศาลเจ้าญี่ปุ่นก็มีบริการรับฝากไปรษณีย์ให้บริการ
อ้างอิงข้อมูล: องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น (JNTO)