ณ ช่วงเวลาหนึ่งเมื่อชีวิตของคนเราตกต่ำ...ล้มลุกคลุกคลานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บางคน...ไม่ทันตั้งตัว รับไม่ไหว บางคน...มีสติรับได้ สู้ได้ทนไหว แต่ไม่น้อยก็ให้หวนคิดนึกถึงไปว่าน่าจะเป็นผลมาจาก “กรรม” นำพาทำให้โชคชะตาเล่นงาน หมดอำนาจวาสนาบารมี
...สู้ไม่ได้ก็แพ้ไป สู้ไม่ไหวชีวิตก็ไม่อาจฝืนชะตา กลับมาฟื้นคืนดังเดิม
ว่ากันว่า...ใครยิ่งมี “วิบากกรรมมาก” ก็ยิ่งสะดุดสุดดำดิ่ง ทุกข์มากมหาศาลหาทางไปเจอกับแสงสว่างปลายอุโมงค์ไม่ได้เลย เรียกว่ามืดมนไปหมด ตั้งสติกันให้ดีๆ เชื่อไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ ให้เร่งรี่ “ทำบุญ” สร้าง “ความดี” ชดเชยให้เจ้ากรรมนายเวร ใครที่มีกรรมเบาอาจจะคลายได้...ทุกข์ก็จะเบาลงไปได้
แต่ถ้ากรรมหนัก ถึงหนักมากๆ...ก็อาจจะรับไม่หนักเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์
“กรรม” ก็คือผลจากการกระทำ ในทางธรรมถ้าว่ากันถึงเรื่องที่เกี่ยวโยงกับ “ศรัทธา...ความเชื่อ” ก็หมายถึง เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ...เชื่อในสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล...เชื่อในสิ่งที่ดีงาม การกระทำ ความดี ไม่ตื่นเต้น...ลุ่มหลงไปตามสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า ด้วยว่าศรัทธา 4 มีอยู่ว่าหนึ่ง...กรรมศรัทธา เชื่อในเรื่องของกรรม
...
สอง...วิบากศรัทธา เชื่อในผลของกรรม สาม...กัมมัสสกตาศรัทธา เชื่อในเรื่องความมีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และสี่... สุดท้าย ตถาคตโพธิศรัทธา เชื่อในเรื่องของปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต
หากจะพูดกันในแง่วิทยาศาสตร์ยึดโยงตามหลักเหตุและผล แน่นอนว่าไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นมาได้ลอยๆ อาทิ น้ำระเหยไปก็กลายเป็นไอน้ำ กระนั้น...ก็ยังมีเรื่องราวไม่น้อยที่วิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์หาคำตอบไม่ได้...แม้นรู้ว่าพายุเกิดได้อย่างไร ที่ไหน แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมไปเกิดตรงนั้น ต่างกับเรื่องของ “กรรม” หากแม้นได้ศึกษากฎแห่งกรรมแล้วจะรู้เลยว่า ไม่มีเรื่องสุ่มหรือ...บังเอิญใดๆเลย
กลับ…ล้วนแล้วแต่มีเหตุมีผลทั้งสิ้น
N N N N
“ศาลเจ้าพ่อแสน” ริมชายหาดบางแสน เยื้องเข้าไปด้านในบริเวณหลังศาลมีร้านรวงตั้งขายของอยู่กันอย่างคึกคัก เกี่ยวกับเรื่องราวศรัทธา ความเชื่อ...ไถ่ถามแม่ค้าสาววัยรุ่นคนหนึ่งก็ได้ความว่า เรื่องอย่างนี้แล้วแต่ศรัทธาของแต่ละคนเลยค่ะนับรวมไปถึงเลขเด็ด เสี่ยงโชค ซื้อหวย รวยเบอร์ก็มีนะคะ “ท่านก็ให้โชค ประสบการณ์ส่วนตัวก็เคยถูกค่ะ”
ถามว่า เลขที่ได้มานั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร เธอก็เล่าให้ฟังว่า มีอยู่วันหนึ่งก็ไปเสี่ยงเสียมซีได้เลขมาก็เลยเอาไปเสี่ยงโชค ปรากฏว่า ก็ถูกรางวัล
กระนั้นแล้วก็ไม่ได้ขอท่านบ่อย นานๆจะเสี่ยงโชคสักครั้ง สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องตั้งใจ ขยันทำมาหากิน ช่วยตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เสียก่อน เรื่องเหนือธรรมชาติ โชคลาภต่างๆ เป็นแค่ส่วนเสริมเติมเต็มกำลังใจ เหมือนเป็นโบนัสชีวิตของเรา เรียกได้ว่า ลาภลอยมีเข้ามาบ้างก็ดีหัวใจจะได้ชุ่มชื่น...ว่างั้น
ช่วงเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมา แม้ว่าสถานการณ์ โควิด-19 ระบาดหนักสาหัส กระทบเศรษฐกิจ ผู้คนไม่ค่อยมีมาเที่ยว กำลังซื้อก็เบาบางลงไปมาก แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าร้านของเธอนั้นก็ยังมีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย เป็นไปได้อย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นได้...เหนืออื่นใดเธอปักใจเชื่อแบบเต็มหัวใจเลยว่า
“เจ้าพ่อแสน ท่านช่วยเรียกลูกค้า ช่วยให้ร้านขายดิบขายดี”
กระนั้นแล้วทุกๆวันก็จะขอท่านให้ช่วยเรื่องค้าๆขายๆ ขอให้ขายหมดร้านทุกวัน ขอให้ขายดีๆ จะเรียกท่านว่า “พ่อ” แล้วก็ขายหมดทุกวันจริงๆ
...
สมหวังตั้งใจแล้วก็ถวายของแก้บน แต่ที่ทำเป็นประจำทุกวี่วันก็คือ ทำความสะอาดศาล ปัดกวาด เก็บขยะ หรือก็ช่วยทุกคนที่มาแก้บน หากไม่มีไฟแช็กก็เอาที่ร้านไปให้เสมอเหมือนคอยให้บริการช่วยเหลือราวกับว่าเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลประจำศาลเลยทีเดียว ถ้ามีเวลาว่างๆหยิบจับอะไรได้ก็จะทำให้เป็นประโยชน์
ผู้คนแวะเวียนมากราบไหว้ สะท้อนศรัทธาที่มีอยู่ไม่เสื่อมคลาย ใครบนอะไรไว้ก็ต้องมาแก้บน จะเห็นได้จากรูปปั้นไก่มีวางเรียงรายกระจายอยู่รายรอบศาล นอกจากนี้แล้วก็ยังถวายน้ำแดง เหล้า พวงมาลัย ไก่ต้ม น้ำมะพร้าว หมากพลู พานบายศรี ดอกไม้ ธูปเทียน ฯลฯ
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าใคร?จะบนอะไรไว้กับ “เจ้าพ่อแสน” และเมื่อประสบผลสำเร็จตามหวังแล้วก็ให้มาแก้บนตามที่บนเอาไว้ อย่าได้ลืมเด็ดขาด
N N N N
“แสน” ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในตำนานรักอันลือลั่นที่ได้เล่าขานกันมาสู่รุ่นต่อรุ่นของคนชลบุรี ตามตำนานเล่าขาน...เมื่อครั้งปลายรัชสมัยกรุงศรีอยุธยา ทะเลบางแสนและเขาสามมุขยังไม่มีชื่อปรากฏ มีเพียงแต่ตำบลอ่างหิน ซึ่งปัจจุบันก็คือ ตำบลอ่างศิลา มีเจ้าของโป๊ะที่ชาวบ้านรู้จักกันในชื่อ “กำนันบ่าย” มีลูกชายชื่อ “แสน” และไกลออกไปที่เมืองบางปลาสร้อยก็มียายกับหลานสาวอาศัยอยู่ โดยหลานมีชื่อว่า “สามมุข”
“สามมุข” มักจะชอบมานั่งเล่นอยู่ริมเชิงเขาเป็นประจำ โดยมีเพื่อนเล่นเป็นลิงป่าที่ลงมาจากเขา อยู่มาวันหนึ่งก็มีว่าวตัวหนึ่งได้ขาดลอยลงมาตกอยู่ตรงหน้า เธอจึงได้เก็บไว้ โดยมี “แสน” วิ่งตามว่าวที่ขาดลอยมาทำให้ทั้งสองได้รู้จักกัน และแสนก็ได้มอบว่าวตัวนั้นไว้ให้กับ “สามมุข” เป็นที่ระลึก
ความสัมพันธ์สะสมก่อเกิดเป็นความรัก จนทั้งคู่ได้สาบานต่อหน้าขุนเขาแห่งนี้ว่า “ทั้งสองจะครองรักกันชั่วนิจนิรันดร หากใครผิดต่อคำสาบานนี้ จะต้องมากระโดดหน้าผานี้ตายตามกัน”
...
เมื่อกำนันบ่ายรู้ข่าวก็ไม่พอใจ ขังแสนไว้จนไม่ได้พบกัน แล้วก็ไปขอลูกสาวคนทำโป๊ะ กำหนดพิธีแต่งงานเสร็จสรรพจนข่าวนี้กระจายไปถึงเขาสามมุข ในวันแต่งงาน หนึ่งในน้ำสังข์ที่หลั่งรดกลับไหลลงมาพร้อมแหวนที่เคยให้ไว้กับสามมุข ทำให้หวนนึกถึงคำสาบาน แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว ด้วยเธอขึ้นไปบนหน้าผาแห่งนั้นแล้ว
และได้กระโดดลงมาจากหน้าผาเสียชีวิต เมื่อแสนเห็นเช่นนั้น จึงตัดสินใจกระโดดตามคนรักลงไป ชาวบ้านต่างพากันเศร้าสลดใจเป็นยิ่งนัก และ...ได้ตั้งชื่อภูเขาลูกนี้ว่า “เขาสามมุข”
ส่วนชายหาดที่ติดกันก็ให้ชื่อว่า “หาดบางแสน” เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของคนทั้งสอง
“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” เชื่อไม่เชื่ออย่างไรโปรดอย่าได้ “ลบหลู่”.
รัก-ยม