วันเช็งเม้ง 2565 ตรงกับวันที่ 5 เมษายน แต่ชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่เริ่มไหว้กันก่อน ไม่ได้เกิดจากการกลัวรถติดจากการเดินทางไปสุสาน แต่เป็นคตินิยมมาแต่โบราณที่ไปไหว้ก่อนและหลังวันเช็งเม้งได้ตามคตินิยม เทศกาลเช็งเม้งแต่ละปีจึงมีช่วงเวลา 14-16 วันที่ลูกหลานเลือกเดินทางไปไหว้ได้ มารู้จักเทศกาลเช็งเม้งได้จากบทความนี้
วันเริ่มไหว้เช็งเม้ง 2565
วันไหว้เช็งเม้ง 2565 หากยึดตามปฏิทินจีนจะตรงกับวันที่ 5 เมษายน แต่ลูกหลานสามารถเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษได้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันสารทชุงฮุง (春分) ตามปฏิทินเกษตรที่ชาวจีนยึดถือกันมาหลายร้อยปี นอกจากวันซุงฮุงแล้วบางบ้านยังไปไหว้ในช่วงเทศกาล 3.3 ซึ่งตรงกับเทศกาลซ่างสื้อ ซึ่งเป็นเทศกาลเช็งเม้งตามวรรณกรรมของจีน
คำว่า เช็งเม้ง (清明) มีความหมายว่าความสะอาด บริสุทธิ์ และแสงสว่าง ชาวไทยเชื้อสายจีนจะรวมตัวกันนัดญาติพี่น้อง ลูกหลาน เพื่อไปยังสุสาน เพื่อทำความสะอาดสุสาน และจัดเตรียมของไหว้
วันเช็งเม้ง 2565 เริ่มไหว้ช่วงไหน ใช้ของไหว้อะไรบ้าง
...
เทศกาลเช็งเม้ง เริ่มไหว้ตั้งแต่ช่วงเช้า ลูกหลานจะไปถึงสุสาน หรือบ้านที่ตั้งป้ายชื่อผู้ตาย โดยเริ่มไหว้ที่ศาลเจ้าที่โถ่วตี่กงประจำสุสานก่อน และหลังจากไหว้เสร็จก็รับประทานอาหารกันที่โรงเจ หรือหากไหว้ที่บ้านก็ไหว้ตี่จู่เอี๊ย
ประวัติประเพณีเช็งเม้ง
ตำนานการไหว้บรรพบุรุษในประเพณีเช็งเม้งถือปฏิบัติตามความเชื่อของลัทธิขงจื๊อ ซึ่งถือความกตัญญูต่อบรรพบุรุษเป็นหลัก ตำนานการเกิดวันเช็งเม้งมีเรื่องเล่าไหว้หลานตำนาน หนึ่งในนั้นคือจุดเริ่มต้นสมัยราชวงศ์ถัง ราว พ.ศ. 1161-1170 คาดว่าผู้คิดค้นคือขุนนางราชวงศ์โจว์ เป็นผู้กำหนดพิธีการจัดการงานไหว้หลุมศพ
จากบันทึกของราชวงศ์ถังการไหว้สุสานหลุมศพบรรพบุรุษกระทำปีละ 2 ครั้ง ช่วงต้นปี และปลายปี
ตำนานประเพณีการทำความสะอาดสุสานในเทศกาลเช็งเม้ง
ตำนานการทำความสะอาดสุสานในเทศกาลเช็งเม้งก่อนเริ่มการไหว้นั้น มาจากพระเจ้าฮั่นเกาจู ผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่น เนื่องจากพระองค์ระลึกถึงบิดามารดาที่เสียชีวิตไปแล้ว จึงเดินทางไปยังบ้านเกิด แต่จำสุสานของบิดามารดาของตนไม่ได้ จึงอธิษฐานต่อเทพบนสวรรค์ด้วยการโปรยกระดาษสีขึ้นฟ้า เพื่อให้กระดาษปลิวไปตกยังป้ายสุสานใด จะถือว่าสุสานนั้นเป็นสุสานของบิดามารดา เมื่อทรงทอดพระเนตรป้ายหลุมศพที่กระดาษตกลงไปชัดๆ ก็พบว่าเป็นหลุมศพของบิดามารดาของพระองค์ หลังจากนั้นประเพณีทำความสะอาดฮวงซุ้ย และทาป้ายชื่อหลุมศพใหม่จึงเป็นที่นิยมปฏิบัติกันต่อมา
ของไหว้เช็งเม้ง 2565
ของเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ได้แก่
1. ข้าวสวยใส่ถ้วย พร้อมตะเกียบ
2. เหล้า หรือน้ำชา
3. กระดาษเปิดทาง
4. อาหาร 3 หรือ 5 อย่าง
5. สัตว์ประเภท หมู ไก่ เป็ด หรือปลา
6. กับข้าวอื่นๆ ที่บรรพบุรุษชอบรับประทาน และผลไม้ลูกสวยๆ เช่น ส้ม, แอปเปิล, กล้วย, ทับทิม, แก้วมังกร, องุ่น
7. ขนมไหว้ ได้แก่ ขนมไข่ ซาลาเปา ฮวกก้วย จูชังเปี๊ยะ
8. กระดาษไหว้เจ้า ได้แก่ กระดาษหงิ่งเตี๋ย, กระดาษเงินกระดาษทอง และกระดาษรูปของใช้ต่างๆ
9. ประทัด
ของไหว้โถ่วตี่กง ได้แก่
1. เนื้อสัตว์ 3 อย่าง
2. ขนม 3 อย่าง
3. ผลไม้ 3 หรือ 5 อย่าง
4. ธูป 5 ดอก พร้อมเทียนแดง 1 คู่
5. เหล้า หรือน้ำชา
วันเช็งเม้งมีข้อห้าม ข้อปฏิบัติ ต้องทำอะไรบ้าง
เทศกาลเช็งเม้ง หรือการไหว้หลุมศพของชาวไทยเชื้อสายจีน ถือเป็นงานอวมงคล ดังนั้นจึงมีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับข้อห้ามที่ไม่ควรปฏิบัติในเทศกาลเช็งเม้ง ดังนี้
- ไม่ควรถ่ายภาพสุสาน
ชาวไทยเชื้อสายจีนมีความเชื่อเกี่ยวกับพลังงานหยินหยางซึ่งเป็นพลังงานแห่งความสมดุลของจักรวาล จึงไม่นิยมถ่ายภาพหมู่ หรือถ่ายภาพครอบครัวที่สุสาน แต่เลือกถ่ายภาพในร้านอาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่สวยงามแทน
- สตรีมีประจำเดือนไม่ควรขึ้นไปเหยียบสุสาน
การตกแต่งสุสานมักเป็นหน้าที่ของเด็กๆ หรือผู้ชาย ไม่นิยมให้สตรีที่มีประจำเดือนขึ้นไปเหยียบดินหรือพื้นที่ฝังศพ แต่อยู่ร่วมพิธีได้
- ผู้มีสุขภาพไม่ดีไม่ควรเดินทางไปยังสุสาน
...
ในการเดินทางไปยังสุสานอาจจะไม่สะดวกสำหรับผู้ที่กำลังป่วยอยู่ หรือมีโรคประจำตัว เนื่องจากอากาศที่ร้อนมาก และพื้นที่ดินขรุขระไม่สะดวกต่อการเดิน อาจจะสะดุดล้มและป่วยไข้หนักขึ้น
- หญิงตั้งครรภ์และเด็กทารกไม่ควรเดินทางไปสุสาน
สตรีตั้งครรภ์หรือเด็กเล็กไม่ควรเดินทางไปที่สุสาน เพราะเชื่อว่ามีพลังงานด้านลบที่ส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพ หรือเป็นกุศโลบายที่ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเดินทางของหญิงตั้งครรภ์ หรือป้องกันความซุกซนของเด็กๆ
ประโยชน์ของเทศกาลเช็งเม้งคือการไหว้เจ้าที่ถือเป็นการให้เกียรติผู้ดูแลคุ้มครองหลุมศพ และการไหว้บรรพบุรุษซึ่งถือเป็นการรำลึกพระคุณพ่อแม่ และบรรพบุรุษ สร้างความสามัคคีให้วงศ์ตระกูล และรวมญาติ พบปะสังสรรค์กันพร้อมหน้า และยังถือว่าพ่อแม่ที่ตายไปแล้วยังกำหนดชีวิตของลูกหลานสืบไป เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและความกตัญญูที่ควรปฏิบัติสืบต่อกัน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง