พระราชบัญญัติ ตัวย่อคือ พ.ร.บ. เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อย คำนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายไทย และมีความสำคัญคือมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ หากใครที่เคยเห็นคำศัพท์คำนี้แล้วยังไม่ทราบความหมาย มาติดตามได้ในบทความนี้

พระราชบัญญัติ คืออะไร

พระราชบัญญัติ คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้เป็นประจำตามปกติเพื่อวางระเบียบความประพฤติของบุคคลรวมถึงองค์กรและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีฐานะสูงกว่าบทกฎหมายอื่นๆ

ลำดับศักดิ์ของกฎหมายไทย แบ่งออกเป็น

- กฎหมายที่ตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- กฎหมายที่ออกโดยสามัญชน

หรือแบ่งด้วยลักษณะ

- บทบัญญัติกฎหมายแม่บท
- อนุบัญญัติกฎหมายลูก

กฎหมายไทยมีลำดับเรียกกันดังนี้

1. รัฐธรรมนูญ
2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
3. พระราชบัญญัติ
4. พระราชกำหนด
5. พระราชกฤษฎีกา
6. กฎกระทรวง
7. กฎหมายที่ตราโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

...

เนื้อหาของพระราชบัญญัตินั้นจะกำหนดเนื้อหาในเรื่องใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้เมื่อใด

วันบังคับใช้กฎหมายแต่ละฉบับจะมีผลหลังจากลงประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา โดยเริ่มนับตั้งแต่ 00.01 น. เป็นต้นไป ยกเว้นว่ากฎหมายบางฉบับมีเหตุจำเป็นตามสภาพเศรษฐกิจหรือสังคม หรือสภาวการณ์ปัจจุบัน เช่น กรณีกำหนดให้พระราชบัญญัติใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือกรณีกำหนดให้พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ในอนาคต โดยระบุวันเดือนปี ที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ที่แน่นอน หรือมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ตัวอย่างพระราชบัญญัติที่ใกล้ตัวประชาชน


พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เป็นพระราชบัญญัติที่กล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีมาตรการเยียวยาเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำตัวทั่วไป และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ทั้งของบุคคลและนิติบุคคล

พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร

พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร หรือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 ได้กำหนดลักษณะของข้อมูลข่าวสารไว้ว่า “สิ่งที่สื่อความหมายให้รู้เรื่องราวข้อเท็จจริง ข้อมูล หรือสิ่งใดๆ ไม่ว่าการสื่อความหมายนั้นจะทำได้โดยสภาพของสิ่งนั้นเอง หรือโดยผ่านวิธีการใดๆ และไม่ว่าจะได้จัดทำไว้ในรูปของเอกสาร แฟ้ม รายงาน หนังสือ แผนผัง แผนที่ ภาพวาด ภาพถ่าย พิล์ม การบันทึกภาพ หรือเสียง การบันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือวิธีอื่นใดที่ทำให้สิ่งที่บันทึกไว้ปรากฏได้” คุ้มครองข้อมูลข่าวสารของรัฐ และเอกชน ตั้งแต่ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร แผ่นบันทึกเสียง ลายพิมพ์นิ้วมือ และรูปถ่าย ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีชีวิตอยู่ และผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้ว

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับ 7) พ.ศ.2562 เป็นอีกหนึ่งกฎหมายที่ลูกจ้างควรศึกษาไว้เป็นความรู้เรื่องสิทธิของตนเอง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนี้ตราขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความมั่นคงในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะทรัพยากรมนุษย์เป็นอีกหนึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์

พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ได้ถูกปรับชื่อเป็น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ว่าด้วยโทษปรับและความผิดเกี่ยวกับเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ หรือการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การแฮกข้อมูล การดักฟัง การเข้าถึงข้อมูลของผู้อื่นโดยมิชอบ ฯลฯ.

...

ที่มา : senate.go.th